วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิเคราะห์วรรณกรรม

การวิเคราะห์วรรณกรรม
แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ เป็นแม่เพลงพื้นบ้านที่มีความสามารถมีปฏิภาณไหวพริบและมีพรสวรรค์ ทั้งในการประพันธ์ แม่ขวัญจิตไม่มีการศึกษาสูงแต่ก็สามารถประพันธ์เพลงได้ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการว่ากลอนสดๆ ได้อย่างคล่องแคล่วและมีความไพเราะ ส่วนด้านการแสดงเพลงพื้นบ้านถือได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถและมีกลวิธีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้มุขตลกการด้น การใช้น้ำเสียงท่าทางและการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป เป็นการแสดงพื้นบ้านที่เป็นอาชีพ
1. คุณค่าทางภาษา
การสร้างสรรค์บทเพลงในด้านเนื้อหา พบว่า มีเนื้อหาที่สะท้อนแง่คิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม และสังคมไทยอย่างเด่นชัดหลายแง่มุม เพราะแม่ขวัญจิตมีความสามารถในการประพันธ์และฉับไวในความคิด โดยจะนำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมาประยุกต์แต่งไว้ในบทเพลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ตาม และสามารถบันทึกเรื่องราวต่างๆได้
การสร้างสรรค์บทเพลงด้านภาษา พบว่าแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ มีการใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารและกลวิธีสร้างภาพพจน์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เพลงพื้นบ้านของ แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ มีความไพเราะและเป็นที่นิยมของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน ลักษณะเด่นที่สุด คือ เรียบง่าย แต่เป็นความเรียบง่ายที่สมบูรณ์ มีการใช้ถ้อยคำหลายลักษณะมีการเล่นคำ การเล่นสัมผัส ความสวยงามนั้นเกิดจากการเลือกสรรถ้อยคำมาร้อยเรียงกันอย่างเหมาะเจาะ ทำให้เกิดความงาม และได้อารมณ์อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการใช้คำไทยแท้ต่าง ๆ นั้นจะทำให้ผู้ฟังได้รับรสและบรรยากาศอย่างไทยจริง ๆ เพลงพื้นบ้านจึงเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งในบทร้อยกรอง ก่อให้เกิดความไพเราะทางด้านเสียงเป็นสำคัญ สื่อความหมายตรงไปตรงมาแบบชาวบ้าน มีความหมายที่ลึกซึ้ง กินใจ แสดงให้เห็นการมีศิลปะในการใช้ภาษาอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความงามเด่นชัดทั้งในเสียง คำ ความหมาย ตลอดรวมถึงด้านจินตนาการ อารมณ์ความรู้สึกอีกด้วย การใช้ถ้อยคำในเพลง จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยลักษณ์ ในเชิงภาษาได้อย่างดียิ่ง จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ดังนี้
ที่จังหวัดสุพรรณนั้นมีงานวัดป่า คนทุกทิศมุ่งมาที่วัดป่าเลไลย์
ปิดทองหลวงพ่อโตแล้วก็โมทนา ให้บุญกุศลรักษามีชีวาสดใส
ได้ทำบุญสุนทานก็เบิกบานอุรา สุขสันต์หรรษาทั่วหน้ากันไป
ได้ดูลิเกละครเวลาก็ค่อนคืนแล้ว เพลงฉ่อยเพลงอีแซวก็เจื้อยแจ้วปลุกใจ
2. คุณค่าทางด้านสังคม และอารมณ์
เพลงอีแซวเป็นมรดกทางปัญญาที่ได้สะสมสืบต่อกันมานาน จึงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและบทบาทต่อสังคม เป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตและสังคม สามารถทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์คล้อยตาม โดยเฉพาะการใช้“มุขตลก” ทำให้มนุษย์มีความสุข มีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งผู้ร้องจะปะทะคารมเพื่อชิงไหวชิงพริบ มักจะแทรกอารมณ์ขันด้วยการล้อเลียน ยั่วเย้า หรือพูดลดเลี้ยวเรื่องเพศอยู่เสมอให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้ฟัง จึงผ่อนคลายความตึงเครียดของสมอง เป็นวิธีบำบัดทางจิตใจได้ทางหนึ่ง จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ดังนี้
ถ้าได้แม่ทองเนื้อถี่งานการพี่มิให้ทำ พี่จะอุปถัมภ์มิให้ร้อนพระทัย
จะบุกเลนถอนหลุ่ม แหวกตมฟันตอ เรื่องงานพี่ไม่ท้อพี่ก็คนชาติไทย
จะทำไร่ล้อมรั้วปลูกถั่วกลางนา ใครไปใครมาจะพาน้องเก็บขาย
จะปลูกกล้วยไข่ให้น้องนั่งขายกล้วยแขก จะให้แม่หนูนั่งแหกแล้วขาขาย ฯ
3. คุณค่าทางศีลธรรม
งานสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มชนในท้องถิ่นมิให้สูญหาย เนื้อหาส่วนใหญ่จึงมุ่งสอนใจแก่ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่เป็นสำคัญ โดยเฉพาะความรู้เรื่องเกี่ยวกับการเลือกคู่ครอง เพศศึกษา ศิลปะการครองเรือน การมีคุณธรรม จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ดังนี้
ฉันเกิดมาเป็นสตรีเมื่อฉันจะมีคู่สอง นัยน์ตามีก็ต้องมองให้เหมาะแก่ความมุ่งหมาย
ถ้ามีผัวไร้ผลต้องอายทั้งคนทั้งหมา ฉันยังไม่เดินหลับตาฉันกลัวจะตกเหวตาย ฯ
4. คุณค่าด้านวัฒนธรรม
การรับอิทธิพลวัฒนธรรมทางตะวันตก ทำให้คนรุ่นใหม่ทั้งในสังคมหันหลังให้กับวัฒนธรรมเดิมของตน มารับสิ่งใหม่ๆ การเลียนแบบประเพณีบางอย่างที่ไม่เหมาะสม การแสดงออกในเรื่องเพศอย่างเปิดเผย เพลงอีแซวได้บันทึกและถ่ายทอดวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทย ได้สะท้อนให้ผู้ฟังได้เห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรม ทำให้ผู้ฟังเกิดจิตสำนึกและหันมาช่วยกันสืบทอดหรือผดุงรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่ จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ดังนี้
จรรยามารยาทอย่าให้ขาดบกพร่อง เราต้องเปลี่ยนสมองให้ทันสมัย
การพูดการจากิริยาเย่อหยิ่ง ไม่ว่าชายและหญิงจะใช้คำพูดคำใหญ่
อย่าได้พูดเสียดสีอ้ายอีไม่เอา อย่าพูดเอ็ดเสียงอ้าวล้วนแต่สิ่งอับอาย ฯ
5. ด้านเศรษฐกิจ
ปัจจุบันการเล่นเพลงอีแซวทำรายได้ให้กับแม่ขวัญจิต และคณะ จนสามารถยึดเป็นอาชีพหลัก พ่อเพลงแม่เพลงจะเป็นศิลปินหรือพ่อเพลงอาชีพเต็มตัว มีการรับงานแสดงตามสถานที่ต่างๆ ตลอดปี ทำรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเจือจุนสมาชิกภายในครอบครัวได้พอสมควร ทำให้ฐานะทางการเงินค่อนข้างดี มีสภาพความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตดีสะดวกสบาย นำรายได้มาใช้จ่ายซื้อสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นใน ชีวิตประจำวัน หรือเครื่องใช้ และเครื่องอำนวยความสะดวกในการแสดงเพลง เช่น เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย เครื่องเสียง และรถยนต์ประจำคณะ
6. ด้านค่านิยม ความเชื่อเรื่องวิญญาณของครูเพลง
6.1 ความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของครูเพลงที่ล่วงลับไปแล้ว
ความเชื่อในเรื่องอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของครูเพลงนั้นสืบทอดมานานในหมู่ชาวเพลง จากการสัมภาษณ์แม่ขวัญจิตยืนยันว่าอำนาจหรืออิทธิฤทธิ์ของครูเพลงนั้นมีจริง ซึ่ง นายไสว สุวรรณประทีป เคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเคยเล่นเรื่องพระเวสสันดร รับบทเป็นชูชก ก่อนแสดงได้ทำพิธีไหว้ครูเพลงขอพรให้เล่นได้ดีเหมือนครูที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเอาหัวชูชกครอบศีรษะเท่านั้นรู้สึกขนลุกทันที พอออกแสดงแล้วไม่รู้สึกตัวเลย สามารถแสดงท่าทางต่างๆ ได้เองเหมือนครูมาเข้าสิงสู่ให้แสดงเช่นนั้น ถ้าไปเล่นเพลงที่ใดก็ตามถ้าวันนั้นไหว้ครูแล้วขนลุกซู่ วันนั้นเล่นเพลงสนุกสนานอย่างยิ่ง แต่ถ้าวันไหนบอกเล่าแล้วรู้สึกเฉยๆ จะเล่นได้ไม่ดีไม่สนุกเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามพ่อเพลงแม่เพลงทุกคนจะมีความเคารพนับถือครูเพลงของตนทั้งที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว โดยเฉพาะครูเพลงที่เสียชีวิตแล้วนั้น ชาวเพลงจะเคารพนับถืออย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่าวิญญาณของครูเพลงมีพลังอำนาจสามารถดลบันดาลให้ตนประสบความสำเร็จในการเล่นเพลงหรือประสบความหายนะก็ได้ ดังนั้น ชาวเพลงต้องปฎิบัติต่อครูเพลงให้ถูกต้องตามแบบอย่างคือ มีความเคารพบูชาและรักษาสัตย์ที่เคยปฎิบัติหรืออ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้ หากทำผิดแบบแผนหรือไม่รักษาคำพูดของตน ก็จะถูกครูเพลงลงโทษต่างๆ นานา การไม่รักษาสัตย์กับครูเพลงก็จะถูกทำโทษด้วยเช่นกัน
อนึ่งความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของครูเพลงนี้น่าจะมีพื้นฐานมาจากความเชื่อเรื่องผีหรือวิญญาณอันเป็นความเชื่อดั่งเดิมที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของคนไทยมาช้านานยิ่งถ้าบังเอิญครูเพลงที่ล่วงลับไปแล้วมีความสัมพันธ์เป็นพ่อแม่หรือญาติมิตรด้วยแล้ว ก็จะกลายเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษที่ชาวเพลงเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ และต้องเคารพบูชามากยิ่งขึ้น การปฏิบัติตนจึงต้องเคร่งครัดมากเป็นพิเศษ และด้วยเหตุที่ชาวเพลงมีความเชื่อเรื่องครูเพลงดังกล่าวจึงแสดงออกด้วยการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่ พิธีจับมือหรือจับข้อมือ เป็นพิธีที่ผู้ประสงค์จะหัดเพลงกระทำกับครูเพลงก่อนฝึกหัด เป็นการแสดงออกถึงการเคารพนับถือครูเพลงยอมเป็นศิษย์ให้คูอบรมสั่งสอน ขณะเดียวกันก็เป็นพิธีที่แสดงถึงการยอมรับของครูว่าจะรับฝึกสอนศิษย์ผู้นั้น กล่าวคือ เป็นการยอมรับเป็นครูเป็นศิษย์อย่างถูกต้องตามแบบแผนประเพณีนิยมนั่นเอง พิธีครอบครูหรือ ครอบเครื่อง เป็นพิธีไหว้ครูหรือแสดงตัวเป็นศิษย์ของครูเพลงที่ล่วงลับไปแล้ว การครอบครูเป็นพิธีใหญ่ส่วนมากจะทำเฉพาะผู้ที่พร้อมเครื่องคือ ครอบเฉพาะตัวละครนั้นๆ พิธีคำนับครู เป็นพิธีไหว้ครูที่ชาวเพลงส่วนใหญ่ทำเป็นประจำทุกปี ถือว่าเป็นการแสดงความเคารพสักการะครูเพลง ความก้าวหน้าในการล่นเพลงต่อไป การจัดพิธีคำนับครูนี้นอกจากจะเชิญครูเพลงแล้วยังรวมไปถึงเครื่องดนตรีต่างๆด้วย สำหรับการกำหนดวันทำพิธีคำนับครูแต่ละคณะจะต่างกัน
5.2 ความเชื่อเรื่องโชคลาง เป็นความเชื่อเบ็ดเตล็ดของพ่อเพลงแม่เพลง เช่น การไม่หันหน้าเวทีไปทางทิศตะวันตก หรือนั่งไหว้ครูจะไม่หันไปทางทิศตะวันตก เพราะถือเป็นทิศที่ไม่ดีไม่นำความเจริญมาให้ตน หรือการไม่เล่นเพลงในงานแต่งเพราะเชื่อว่าจะนำความวิบัติ มาให้คณะ การปฎิบัติตามความเชื่อ และธรรมเนียมประเพณี ดังกล่าวนี้ นอกจากจะทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมอาชีพ และผู้ชมทั่วไปยังทำให้พ่อเพลงแม่เพลงเกิดความมั่นใจและภูมิใจ ในการเล่นเพลงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: