วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

“แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย”


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
แนวคิดธุรกิจที่ดำเนินการ
นายณุกุล ป้อมสกุล เจ้าของผลิตภัณฑ์จิตรกรรมไทยร่วมสมัย ภายใต้ชื่อ “ศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล” เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของธุรกิจของเขาว่า “ผมเรียนมาทางด้านศิลปะ ด้วยความที่ถนัดวาดภาพ รักงานนี้มาก แต่ผมก็มองว่าหากวาดภาพขายอย่างเดียวคงไปไม่ถึงไหนแน่ จึงคิดที่จะเขียนลงบนวัสดุต่างๆ เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้มากขึ้น ผมเลือกที่จะวาดภาพลายไทยลงบนแจกันดินเผา ซึ่งด้วยรูปทรงที่โค้งมนก็เป็นอุปสรรคต่อการวาดอยู่บ้าง แต่เมื่อเพ้นท์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ความโค้งมนของแจกันกลับสามารถสร้างมิติให้ภาพวาดได้อย่างกลมกลืนและกลายเป็นเสน่ห์ของผลงานเราไปเลย
โอกาสธุรกิจและปัจจัยความสำเร็จ
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย ของกลุ่มศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาบ้านภาคภูมิใจเนื่องจาก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผสมผสานกับศิลปะจิตรกรรมบนฝาผนังโบสถ์ เป็นการสร้างอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ในช่วงว่างจากทำเกษตรกรรม “แรกๆ เรามีปัญหาอยู่เหมือนกันในเรื่องของการทำตลาด เพราะผมผลิตอย่างเดียวแต่ไม่มี ที่ขาย ไม่มีหน้าร้าน พอดีมีสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี เขามาทำข่าวให้ หลังจากนั้นก็มีรายการโทรทัศน์มาถ่ายทำอีก ก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ลูกค้าก็ติดต่อเข้ามาซื้อสินค้าถึงที่เลย”
ด้วยความโดดเด่นจากเอกลักษณ์การวาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ของนายณุกุล ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะซื้อไปจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ต่อมาเมื่อเริ่มมียอดขายเพิ่มมากขึ้น นายณุกุลจึงคิดค้นความแปลกใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการนำวัสดุอื่นๆ มาผสมผสาน เป็นที่มาของการจัดตั้งกลุ่มอาชีพศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุลขึ้น โดยกระจายงาน ให้กลุ่มแม่บ้านทำ ให้เขานำผักตบชวามาสานแล้วก็นำมาเพิ่มมูลค่าให้กับแจกันดินเผาที่ทำอยู่ ลูกค้าเห็นก็ชอบ เพราะมันแปลกและสวย พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็เพิ่มวัสดุอื่นๆ เข้ามาอีก เช่น กล่องไม้ แผ่นไม้ หรือไม่ก็เป็นภาพจิตรกรรมบนแผ่นเฟรม หลังจากมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงชุมชนได้ไม่นาน ทำให้พบปัญหาคือ การถูกลอกเลียนแบบ จึงคิดปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ดีขึ้น แต่ยังคงเน้นเอกลักษณ์ของบ้านธรรมกุลไว้
กลุ่มตลาดเป้าหมายและการคาดคะเนลูกค้าเป้าหมาย
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักได้แก่
กลุ่มผู้บริโภคที่นิยมการตกแต่งบ้าน สถาปนิก ร้านอาหาร กลุ่มเป้าหมายที่เป็นร้านค้า
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายรองได้แก่
กลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ
ความได้เปรียบคู่แข่งขัน
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย ได้เปรียบคู่แข่งขันเพราะเป็นงานฝีมือที่มีความละเอียด ประณีตและสวยงาม มีความโดดเด่น มีคุณค่าเป็นธรรมชาติ แปลกตา มีความประณีตในการประดิษฐ์ ได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP 4 ดาวของจังหวัดสุพรรณบุรี และยังได้ออกงานแสดงสินค้าทั้งในและนอกประเทศอยู่เสมอ ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขัน
ประเภทสินค้า นอกเหนือจาก “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” แล้ว ในกลุ่ม ศิลปกรรมพื้นบ้านบ้านธรรมกุล ยังมีผลงานที่คล้ายคลึงอีก 9 อย่าง ได้แก่
1) แจกันไม้หุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย
2) ชุดน้ำล้นเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
3) กล่องไม้เอนกประสงค์
4) แจกันปัดทองเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
5) ที่คั่นหนังสือ
6) โคมไฟ
7) พวงกุญแจ
8) ถาดใส่ผลไม้
9) แผ่นไม้สักโบราณเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
โอกาสและกลยุทธ์
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย เป็นผลิตภัณฑ์ในโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้านงบประมาณการอบรมฝีมือบุคลากรเพื่อให้เกิดความชำนาญการจัดแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งพบว่า ในปัจจุบันลูกค้าให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มากขึ้น แต่กำลังการผลิตยังไม่เพียงพอกับ ความต้องการของตลาด ด้านปัจจัยภายใน จุดแข็งจะอยู่ที่ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย มีแห่งเดียวในประเทศไทย ยังไม่มีคู่แข่ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ แต่ความไม่พร้อมด้านบุคลากร และช่างฝีมือวาดภาพศิลปะจิตรกรรมไทยยังมีน้อย
ขาดทักษะความชำนาญบวกกับขั้นตอนการผลิตที่มีหลายขั้นตอนต้องใช้เวลา ความชำนาญ ความประณีต เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพสมกับราคา ความไม่พร้อมด้านช่องทางการจำหน่าย และความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง ที่สำคัญคือ ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผา แนวจิตรกรรมไทยยังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ทำให้การตลาดยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
จากการวิเคราะห์ดังกล่าว จึงนำทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนกำหนดเป็นกลยุทธ์ คือ สร้างตราสินค้า (BRAND) สร้างความจดจำ (REMINDY) พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (NEW PRODUCT) และมีวัตถุประสงค์ คือ การสร้างการรับรู้และจดนำตราสินค้า รับรู้คุณค่า และภาพลักษณ์ เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้และกำไร
สรุปความรู้ผู้บริหาร
ธุรกิจได้เกิดขึ้นจากแนวคิดของผู้ริเริ่มกิจการคือ คุณณุกูล ป้อมสกุล ผู้ที่ชอบงานศิลปะการวาดภาพ และต้องการเผยแพร่งานศิลปะภาพจิตกรรม ฝาผนังโบสถ์สมัยรัชกาลที่ 3 ของ วัดหน่อพุทธางกูร จึงเลือกที่จะวาดภาพลายไทยลงบนแจกันดินเผา นำผักตบชวามาสานแล้วก็นำมาเพิ่มมูลค่าให้กับแจกันดินเผาที่ทำอยู่ ซึ่งแปลกและสวย มีความหลากหลาย และแตกต่างจากคู่แข่งขันอื่น ด้วยความโดดเด่นจากเอกลักษณ์การวาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยม เป็นที่สนใจของลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าพร้อมทั้งมียอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วย

ความเป็นมา

นายณุกูล ป้อมสกุล เด็กหนุ่มจากบ้านธรรมกุล (บ้านพิหารแดง หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี) ซึ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี ได้มีโอกาสไปร่วมงานซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดจรรย์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบกับหมู่บ้านธรรมกุล ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายณุกูล ป้อมสกุล ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง และบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งที่ตั้งเตาเผาโบราณบ้านบางปูน ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลพิหารแดง จึงเกิดความสนใจและเริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของถิ่นเกิดภายในตำบลพิหารแดง เช่น เมืองเก่าบ้านธรรมกุล หมู่ที่ 5 เตาเผาบ้านบางปูน หมู่ที่ 3 ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดหน่อพุทธางกูร หมู่ที่ 1 เป็นต้น
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบ้านธรรมกุล จากการศึกษาพบว่า บ้านธรรมกุลเป็นเมืองเก่า ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองสุพรรณบุรี ประมาณ 1 กิโลเมตร ดังที่สุนทรภู่ กวีเอกในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้แต่งไว้ในหนังสือนิราศเมืองสุพรรณ บทที่ 157 เมื่อครั้งล่องเรือผ่าน ทางแม่น้ำท่าจีน ในสมัยนั้น ความว่า
บ้านตั้งฝั่งฟากน้ำ ธรรมกุล
วัดช่างปางก่อนสูญ สงัดเศร้า
ขอบเขื่อนเกลื่อนอิฐปูน เปื่อยเปล่า เจ้าเอย
โบสถ์ยับทับพระเจ้า เจิ่งน้ำกร่ำฝน
จากการศึกษายังพบอีกว่า บริเวณใกล้เคียงกันยังเป็นแหล่งเตาเผาโบราณหลายแห่ง เช่น เตาเผาบ้านบางปูน เตาเผาบ้านสมุน เตาเผาวัดชีสุขเกษม เตาเผาวัดพระนอน และเตาเผาบ้านธรรมกุล ดังสาระสำคัญจากหนังสือสุพรรณบุรี ประวัติศาสตร์ ศิลปหัตถกรรม และวัฒนธรรมท้องถิ่น ความว่า บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านธรรมกุล ซึ่งพบว่ามีภาชนะดินเผาหลายประเภทเป็นจำนวนมาก แสดงว่ามีการผลิตแบบอุตสาหกรรม นอกจากใช้ในท้องถิ่นแล้วยังเป็นสินค้าส่งออก อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิหารร้างอยู่ แสดงว่าการผลิตภาชนะดินเผา และการก่อสร้างเตา ต้องมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งอาจเป็นสุสานฝังศพเหมือนลักษณะที่พบในแหล่งเตาบ้านเกาะน้อยป่ายาง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการศึกษาทางโบราณคดี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อมูลสมมติฐานดังกล่าวอย่างรีบด่วน เพราะกำลังถูกทำลายจากธรรมชาติและการทำไร่ แหล่งเตาเผานี้น่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21
นอกจากจะเป็นแหล่งเตาเผาแล้ว ในหมู่บ้านใกล้เคียงอย่างหมู่บ้านพลุหลวง เป็นที่ตั้งของวัดหน่อพุทธางกูร ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชาวลาว 3 คนพี่น้อง ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ยังอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ประกอบกับจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งกำเนิดวรรณคดีชื่อดัง “ขุนช้าง - ขุนแผน” รวมถึงการละเล่นของเด็กไทยและวิถีชีวิตคนไทยในอดีต ที่กำลังเลือนหายไปจากสังคมไทย
ผลงาน “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” จึงเกิดจากความสนใจของ นายณุกูล ป้อมสกุล ที่ต้องการเผยแพร่งานศิลปะภาพจิตกรรม ฝาผนังโบสถ์ สมัยรัชกาลที่ 3 ของวัดหน่อพุทธางกูร ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องราววรรณคดี ขุนช้าง - ขุนแผน รวมทั้งการละเล่นของเด็กไทย และวิถีชีวิตคนไทยในอดีต จึงได้คิดผลิตชิ้นงานที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นตำบลพิหารแดง ที่มีการผสมผสานกันระหว่างงานหัตถกรรม (เครื่องปั้นดินเผาและการจักสานผักตบชวา) และงานจิตรกรรม เกิดงานศิลปกรรมบ้านธรรมกุล ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ชื่อกลุ่ม
กลุ่มศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล

ประเภทธุรกิจ
เป็นธุรกิจกิจการคนเดียว

เจ้าของ/ผู้ประกอบการ
นายณุกุล ป้อมสกุล

สถานที่ตั้ง
บ้านธรรมกุล เลขที่ 60 หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

หมายเลขโทรศัพท์
035-408400 , 089-8177856 , 085-1951392 , 089-1788494

วัตถุประสงค์

2.1 วัตถุประสงค์ทั่วไปของสินค้า
1. เพื่อเผยแพร่งานศิลปะภาพจิตกรรมไทย ฝาผนังโบสถ์ วัดหน่อพุทธางกูร และสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

2. เพื่อช่วยให้มีรายได้เพิ่มจากการขายผลิตภัณฑ์ให้ได้ราคา
3. เพื่อนำวัสดุธรรมชาติมาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ในการใช้สอย
2.2 วัตถุประสงค์ทางการตลาดของสินค้า
1. เพื่อการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในและนอกประเทศ
2. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทย และชาวต่างประเทศหันมาอุดหนุนผลิตภัณฑ์
3. เพื่อสร้างมูลค่าให้กับของเหลือใช้ ด้วยการเพิ่มรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นและประเทศ

การสั่งสม สืบสานผลิตภัณฑ์

1. มีการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์งานปั้นรูปทรงต่าง ๆ ตามประโยชน์ใช้งาน
2. มีการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการจักสานลวดลายต่าง ๆ และป้องกันการเกิดเชื้อราบนผักตบชวา
3. มีการถ่ายทอดภูมิความรู้เพื่อสืบทอดให้แก่เยาวชนในหมู่บ้าน และบุคคล สนใจทั่วไป
4. มีการเรียนรู้และการถ่ายทอดมาจากสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

กลุ่มช่าง จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มช่างศิลป์ และกลุ่มงานจักสาน
กลุ่มช่างศิลป์
นางสาวจินตนา คำประดับเพชร
กลุ่มงานจักสาน
1. นางยุพดี ชูแก้ว
2. นางรำเพย ป้อมสกุล

วัสดุที่ใช้ในการผลิตผลงาน

1. แจกันดินเผา / เครื่องปั้นดินเผา
2. สีเคลือบ
3. สีฝุ่นตลับ
4. น้ำยาเคลือบ
5. น้ำมันวานิช
6. ผักตบชวา
7. น้ำเปล่า

แหล่งที่มาของวัสดุ

1. แจกันดินเผา สั่งทำที่โรงปั้นหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนายณุกูล ป้อมสกุล เป็นผู้ออกแบบรูปทรงของแจกันให้โรงงาน
2. สีเคลือบ สีฝุ่นตลับ น้ำยาเคลือบ และน้ำมันวานิช จัดซื้อจากร้านค้าในกรุงเทพมหานคร เพราะมีราคาถูก ส่วนวัสดุในท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรีก็มี แต่ราคาแพง
3. ผักตบชวา จัดซื้อจากกลุ่มเครื่องจักสานบ้านดอนเจดีย์ ของผู้ใหญ่สงวน จำปาศักดิ์ อยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต

1. เครื่องรีดผักตบชวา
2. พู่กัน
3. กรรไกร
4. กาวลาเท็กซ์

ขั้นตอนกระบวนการผลิต/วิธีทำ

1. กระบวนการผลิต มีการพัฒนากระบวนการผลิต จากอดีตถึงปัจจุบัน
1) ออกแบบ คัดสรรภาชนะแจกันดินเผา
2) วาดภาพลงบนแจกันดินเผาโดยลอกเลียนแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดหน่อพุทธางกูร
3) มีการลงสี ทำเทกเจอร์ (Textures) ลงบนพื้นที่ที่เหลือของแจกัน
4) นำผักตบชวามาสานหุ้มแจกันผสมผสานกับการวาดภาพ
5) มีการพัฒนารูปแบบของแจกัน และลวดลายการสานใหม่ ๆ อยู่เสมอ
6) การพัฒนาจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นไม้
2. ขั้นตอนการผลิต มี 11 ขั้นตอน ดังนี้
1) เตรียมแจกันดินเผา ล้างให้สะอาด และตากแดดให้แห้ง
2) ทาสีขาวรองพื้น 3 ครั้ง ด้วยสีน้ำพลาสติก
3) ลงแปลน (วาดรูปจิตรกรรมลงบนเครื่องปั้นดินเผา)
4) ตัดเส้นด้วยสีดำ เช่น บ้าน ต้นไม้ ใบไม้ ฯลฯ
5) ตัดหน้าตาคน ตุ๊กตา
6) ลงพื้นผิว (Textures) (เทคนิคการลงพื้นผิว ไม่สามารถเปิดเผยได้)
7) เคลือบแลกเกอร์ ด้านรูปจิตรกรรม
8) ส่งให้สมาชิกจักสานผักตบชวา เป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายพิกุลผูก ลายมะกอก ลายกระบิด 4 เส้น
9) ตัดขอบด้านรูปจิตรกรรม แล้วนำผักตบชวาที่ถักเป็นเปียมาติดที่ขอบรูป
10) นำแจกันออกตากแดด 1 - 2 วัน
11) นำแจกันมาเคลือบวานิช และยูริเทน

ลายจักสานผักตบชวา

1) ลายพิกุลผูก
2) ลายมะกอก
3) ลายกระบิด 4 เส้น

ระยะเวลาการผลิต

ใช้เวลาประมาณ 5 - 7 วัน แต่จะทำได้หลายชิ้นต่อครั้ง แล้วแต่ขนาดของผลงาน ถ้ามีขนาดใหญ่ ประมาณ 10 ชิ้น แต่ถ้ามีขนาดเล็ก จะได้ประมาณ 100 ชิ้น

วัตถุประสงค์ของการผลิต

1. เพื่อจำหน่าย
2. เพื่อใช้สอยในครัวเรือน

ประโยชน์ / หน้าที่ใช้สอย

1. ตัวผลิตภัณฑ์ “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” บ่งบอกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความผูกพันของชุมชนกับศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม
2. เป็นของใช้ประดับตกแต่งที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างงานหัตถกรรมและจิตรกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย วิถีชีวิตไทยที่สามารถเผยแพร่ไปสู่สากลได้อย่างภาคภูมิใจ
3. ใช้ประโยชน์ตามรูปลักษณะของผลิตภัณฑ์ เช่น แจกัน ถังไม้กอล์ฟ ถังใส่ผ้า โคมไฟ
ที่คั่นหนังสือ กล่องไม้ เป็นต้น
4. เป็นการใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ และสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน

ผลงานในกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

นอกเหนือจาก “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” แล้ว ในกลุ่มศิลปกรรมพื้นบ้านบ้านธรรมกุล ยังมีผลงานที่คล้ายคลึงอีก 9 อย่าง ได้แก่
1) แจกันไม้หุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย
2) ชุดน้ำล้นเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
3) กล่องไม้เอนกประสงค์
4) แจกันปัดทองเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
5) ที่คั่นหนังสือ
6) โคมไฟ
7) พวงกุญแจ
8) ถาดใส่ผลไม้
9) แผ่นไม้สักโบราณเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย

ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน

1) สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสุพรรณบุรี
2) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี
3) ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 จังหวัดสุพรรณบุรี
4) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
5) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุพรรณบุรี
6) สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี
7) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน
8) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
9) สโมสรโรตารี่จังหวัดสุพรรณบุรี

10) สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี

การยกย่องจากสถาบันหรือการยอมรับของช่างในกลุ่ม/ชุมชนเดียวกัน

1) ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ดีเด่น ระดับสี่ดาว ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย
2) ได้รับรางวัลหมู่บ้านหัตถกรรม ประจำปี 2546 จากมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
3) ได้รับรางวัลหมู่บ้าน OTOP ต้นแบบ จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี
4)ได้รับความสนใจจากรายการโทรทัศน์ “รายการ รอบรู้ OTOP” ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนท์ทีวี โดยคุณสันติ เศวตวิมล (แม่ช้อยนางรำ)

ยอดขายและส่วนครองตลาด

ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นคุณค่าของงานหัตถกรรมฝีมือคนไทยที่ผสมผสานศิลปะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ลงในเครื่องปั้นดินเผาเพื่อให้งานออกมาทรงคุณค่า ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์สูง สำหรับผู้ที่รักความเป็นไทย
สำหรับยอดขายของผลิตภัณฑ์จักสานเครื่องปั้นดินเผาแนวจิตรกรรมไทย ในช่วงเวลา 1 เดือน สามารถทำยอดขายได้ประมาณ 200 ชิ้น เนื่องจากกำลังการผลิต ผลิตสินค้าได้เดือนละประมาณ 200 ชิ้น ผลิตเท่าไรก็ขายหมดทำให้ภายในเวลา 1 ปี ทางกลุ่มศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล มียอดขายผลิตภัณฑ์โดยรวมประมาณ 2,400 ชิ้น ซึ่งส่วนครองตลาดถ้าเป็นผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตกรรมไทยก็ถือว่าเต็ม 100 % เพราะคู่แข่งทางตรงยังไม่มีประกอบกับทางกลุ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์หลายๆรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
หมายเหตุ : เนื่องจากทางกลุ่มมีผลิตภัณฑ์หลายชนิด หลายรูปแบบ หลายขนาด ทำให้ไม่ทราบยอดขายที่เป็นจำนวนเงิน (บาท) ทราบแต่เพียงยอดขายที่เป็นจำนวน (ชิ้น)-11-
กลยุทธ์ราคา (Pricing Strategies)
การกำหนดราคาสินค้า ทางกลุ่มใช้กลยุทธ์ราคาสูงเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดระดับสูงที่กำหนดไว้ การตั้งราคาสินค้าไว้สูงเพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ตำแหน่งสินค้าที่อยู่ในระดับสูง
กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion Strategies)
โดยทางกลุ่มใช้กลยุทธ์ดึง (Pull Strategy) ให้การส่งเสริมการตลาด เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการโฆษณาหรือการส่งเสริมการขายที่ทำให้กับผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง โดยการใช้ใบปลิว แผ่นพับ ให้กับคนที่ดูงานเพื่อเป็นรายละเอียดให้กับผู้ที่มาดูงาน
งบประมาณ
ราคา ราคาขายส่ง ราคาขายปลีก
400 บาท 600 บาท
ต้นทุนสินค้า
ค่าใช้จ่ายในการทำผลิตภัณฑ์
แจกันดินเผา 20 บาท
ค่าลงแปรน 35 บาท
ค่าตัดเส้น 45 บาท
ค่าสานผักตบ 80 บาท
ค่าติดเปีย 20 บาท
ค่าสี 50 บาท
ค่าทำเท็คเจอร์ 20 บาท
ค่าเคลือบวาณิช 4 บาท
ค่าเล็คเกอร์สเปรย์ 7 บาท
ค่าเล็กเกอร์ด้าน 3 บาท
ค่ายูริเทน 4 บาท
รวมต้นทุน 278 บาท
กำไร 122 บาท 322 บาท
หมายเหตุ : ราคาขายปลีกมาจากราคาขายส่ง x50% = 200+400 = 600 บาท
ราคา ราคาขายส่ง ราคาขายปลีก
600 บาท 900 บาท
ราคาขาย
ต้นทุนทางการตลาด
ค่าโสหุ้ย 9 บาท
ค่าบรรจุภัณฑ์ 170 บาท
ค่าป้ายฉลาก 1 บาท
รวมต้นทุนทั้งสิ้น 458 บาท
กำไร 142 บาท 442 บาท
หมายเหตุ : ราคาขายปลีกมาจากราคาขายส่ง x50% = 300+600 = 900 บาท
ต้นทุนป้ายฉลาก
ค่าเพจ 3,500 บาท ค่ากระดาษ 1,000 บาท
ค่าพิมพ์ 2,500 บาท ค่าแรงงาน 3,000 บาท
รวมค่าป้ายฉลาก 1,000 บาท (ทำได้ 10,000 ชิ้น จะได้ชิ้นละ 1 บาท)

บทวิเคราะห์

วิเคราะห์คุณค่าของผลงาน ลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์
“แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” เป็นของที่ระลึก ของใช้ประดับตกแต่งที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างงานหัตถกรรมและจิตรกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย วิถีชีวิตไทยที่สามารถเผยแพร่สู่สากลได้อย่างภาคภูมิใจ เป็นงานที่สื่อถึงวิถีชีวิตชาวชนบทดั้งเดิม ที่แสดงออกมาในรูปของจิตรกรรม ที่ลอกเลียนแบบจิตรกรรมฝาผนัง วรรณคดีไทย วิถีชีวิตคนไทย บ้านทรงไทย การละเล่นพื้นบ้าน ผนวกกับการจักสานผักตบชวาที่มีลวดลายพิกุลผูก ลายมะกอก และลายกระบิด ๔ เส้น ที่สวยงามหุ้มแจกันดินเผา ตลอดจนลักษณะพื้นผิวของงานที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนผู้ใด และไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องใช้เวลาในการคิดค้นงานเป็นเวลานาน


วิเคราะห์คุณค่า ที่แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเป็นคุณค่าของงานหัตถกรรมฝีมือคนไทยที่ผสมผสานศิลปะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ลงในเครื่องปั้นดินเผาเพื่อให้งานออกมาทรงคุณค่า ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์สูง สำหรับผู้ที่รักความเป็นไทย มีความประณีต และละเอียดกว่ารูปแบบที่แปลกใหม่ที่ทำด้วยมือ ผู้บริโภคจะใส่ใจดูแลรักษาเป็นอย่างดี

กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญา

1. การออกร้านแสดงและจำหน่ายสินค้าในงานต่างๆ เช่น งานมหกรรมหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี
2. การจัดแสดงสินค้าที่ไบเทค บางนา
3. การลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ คมชัดลึก หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น การประชาสัมพันธ์ผ่ายเว็บไซด์
www.thai tambom.com การให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ช่องต่างๆ
การถ่ายทอดภูมิปัญญา “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” โดยให้การสนับสนุน อนุเคราะห์ข้อมูลให้ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ทั้งภาครัฐ เละเอกชน ประกอบการศึกษาหาความรู้ด้านภูมิปัญญา

สรุป เสนอแนะ การพัฒนาภูมิปัญญาตามสภาวะปัจจุบัน

ปัจจุบันทางกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย ได้คิดพัฒนาการทำบรรจุภัณฑ์ (Packaging Strategies) ให้กับสินค้าบางตัว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้สินค้าดูมีค่า และมีราคาที่สูงขึ้น ทั้งยังทำให้สินค้าปลอดภัยขณะขนส่ง ซึ่งบรรจุภัณฑ์นั้น ทางกลุ่มเลือกที่จะใช้ผักตบชวาสานหุ้มตัวสินค้าอีกที และบรรจุภัณฑ์นั้นยังสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ อย่างอื่นได้อีก สามารถเชิญชวนให้ลูกค้าเกิดความต้องการสินค้าด้วยหลักเหตุ และหลักจิตวิทยา

ตราสินค้า

การสื่อความหมายของตราสินค้า “จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทยบ้านธรรมกุล” รูปเด็กไทยโบราณผมแกละ ก็เปรียบเสมือนความเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งจักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทยเป็นงานที่จัดทำขึ้นมาเพื่อแสดงความเป็นลงบนผลงาน และเป็นงานศิลปะที่ทำขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวบ้านธรรมกุล
การใช้ตราร่วมสำหรับทุกผลิตภัณฑ์หรือเป็นวิธีการตั้งตราเดียวสำหรับผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของกลุ่ม จะทำให้คนรู้จักยิ่งขึ้นถ้าผลิตภัณฑ์เดิมได้รับความนิยมอยู่แล้ว ผลิตภัณฑ์ใหม่จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย ทำให้ประหยัดต้นทุนในการแนะนำผลิตภัณฑ์ ทางกลุ่มต้องการให้สินค้ามีชื่อตราว่า “เครื่องจักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย” แล้วได้มาเปลี่ยนเป็น “THAI OF ART SUPHANBURI” เนื่องจากเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า ศิลปะไทยของสุพรรณบุรี และบ่งบอกถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ เพื่อต้องการให้ ตราสินค้าดูเป็นภาษาสากลเพิ่มขึ้น ทำให้มองถึงตลาดต่างประเทศที่ในอนาคตอาจจะต้องการ ส่งสินค้าไปขาย

ประวัติและผลงาน ของ นายณุกูล ป้อมสกุล



ชื่อ นายณุกูล ป้อมสกุล
เกิดวันที่ 11 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2520
ที่อยู่ อยู่บ้านเลขที่ 60 หมู่ที่ 5 ถนน - ซอย - ตำบลพิหารแดง
อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์ - โทรสาร -