วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

“แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย”


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
แนวคิดธุรกิจที่ดำเนินการ
นายณุกุล ป้อมสกุล เจ้าของผลิตภัณฑ์จิตรกรรมไทยร่วมสมัย ภายใต้ชื่อ “ศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล” เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของธุรกิจของเขาว่า “ผมเรียนมาทางด้านศิลปะ ด้วยความที่ถนัดวาดภาพ รักงานนี้มาก แต่ผมก็มองว่าหากวาดภาพขายอย่างเดียวคงไปไม่ถึงไหนแน่ จึงคิดที่จะเขียนลงบนวัสดุต่างๆ เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้มากขึ้น ผมเลือกที่จะวาดภาพลายไทยลงบนแจกันดินเผา ซึ่งด้วยรูปทรงที่โค้งมนก็เป็นอุปสรรคต่อการวาดอยู่บ้าง แต่เมื่อเพ้นท์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ความโค้งมนของแจกันกลับสามารถสร้างมิติให้ภาพวาดได้อย่างกลมกลืนและกลายเป็นเสน่ห์ของผลงานเราไปเลย
โอกาสธุรกิจและปัจจัยความสำเร็จ
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย ของกลุ่มศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาบ้านภาคภูมิใจเนื่องจาก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผสมผสานกับศิลปะจิตรกรรมบนฝาผนังโบสถ์ เป็นการสร้างอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ในช่วงว่างจากทำเกษตรกรรม “แรกๆ เรามีปัญหาอยู่เหมือนกันในเรื่องของการทำตลาด เพราะผมผลิตอย่างเดียวแต่ไม่มี ที่ขาย ไม่มีหน้าร้าน พอดีมีสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี เขามาทำข่าวให้ หลังจากนั้นก็มีรายการโทรทัศน์มาถ่ายทำอีก ก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ลูกค้าก็ติดต่อเข้ามาซื้อสินค้าถึงที่เลย”
ด้วยความโดดเด่นจากเอกลักษณ์การวาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ของนายณุกุล ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะซื้อไปจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ต่อมาเมื่อเริ่มมียอดขายเพิ่มมากขึ้น นายณุกุลจึงคิดค้นความแปลกใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการนำวัสดุอื่นๆ มาผสมผสาน เป็นที่มาของการจัดตั้งกลุ่มอาชีพศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุลขึ้น โดยกระจายงาน ให้กลุ่มแม่บ้านทำ ให้เขานำผักตบชวามาสานแล้วก็นำมาเพิ่มมูลค่าให้กับแจกันดินเผาที่ทำอยู่ ลูกค้าเห็นก็ชอบ เพราะมันแปลกและสวย พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็เพิ่มวัสดุอื่นๆ เข้ามาอีก เช่น กล่องไม้ แผ่นไม้ หรือไม่ก็เป็นภาพจิตรกรรมบนแผ่นเฟรม หลังจากมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงชุมชนได้ไม่นาน ทำให้พบปัญหาคือ การถูกลอกเลียนแบบ จึงคิดปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ดีขึ้น แต่ยังคงเน้นเอกลักษณ์ของบ้านธรรมกุลไว้
กลุ่มตลาดเป้าหมายและการคาดคะเนลูกค้าเป้าหมาย
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักได้แก่
กลุ่มผู้บริโภคที่นิยมการตกแต่งบ้าน สถาปนิก ร้านอาหาร กลุ่มเป้าหมายที่เป็นร้านค้า
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายรองได้แก่
กลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ
ความได้เปรียบคู่แข่งขัน
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย ได้เปรียบคู่แข่งขันเพราะเป็นงานฝีมือที่มีความละเอียด ประณีตและสวยงาม มีความโดดเด่น มีคุณค่าเป็นธรรมชาติ แปลกตา มีความประณีตในการประดิษฐ์ ได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP 4 ดาวของจังหวัดสุพรรณบุรี และยังได้ออกงานแสดงสินค้าทั้งในและนอกประเทศอยู่เสมอ ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขัน
ประเภทสินค้า นอกเหนือจาก “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” แล้ว ในกลุ่ม ศิลปกรรมพื้นบ้านบ้านธรรมกุล ยังมีผลงานที่คล้ายคลึงอีก 9 อย่าง ได้แก่
1) แจกันไม้หุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย
2) ชุดน้ำล้นเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
3) กล่องไม้เอนกประสงค์
4) แจกันปัดทองเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
5) ที่คั่นหนังสือ
6) โคมไฟ
7) พวงกุญแจ
8) ถาดใส่ผลไม้
9) แผ่นไม้สักโบราณเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
โอกาสและกลยุทธ์
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย เป็นผลิตภัณฑ์ในโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้านงบประมาณการอบรมฝีมือบุคลากรเพื่อให้เกิดความชำนาญการจัดแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งพบว่า ในปัจจุบันลูกค้าให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มากขึ้น แต่กำลังการผลิตยังไม่เพียงพอกับ ความต้องการของตลาด ด้านปัจจัยภายใน จุดแข็งจะอยู่ที่ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย มีแห่งเดียวในประเทศไทย ยังไม่มีคู่แข่ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ แต่ความไม่พร้อมด้านบุคลากร และช่างฝีมือวาดภาพศิลปะจิตรกรรมไทยยังมีน้อย
ขาดทักษะความชำนาญบวกกับขั้นตอนการผลิตที่มีหลายขั้นตอนต้องใช้เวลา ความชำนาญ ความประณีต เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพสมกับราคา ความไม่พร้อมด้านช่องทางการจำหน่าย และความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง ที่สำคัญคือ ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผา แนวจิตรกรรมไทยยังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ทำให้การตลาดยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
จากการวิเคราะห์ดังกล่าว จึงนำทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนกำหนดเป็นกลยุทธ์ คือ สร้างตราสินค้า (BRAND) สร้างความจดจำ (REMINDY) พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (NEW PRODUCT) และมีวัตถุประสงค์ คือ การสร้างการรับรู้และจดนำตราสินค้า รับรู้คุณค่า และภาพลักษณ์ เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้และกำไร
สรุปความรู้ผู้บริหาร
ธุรกิจได้เกิดขึ้นจากแนวคิดของผู้ริเริ่มกิจการคือ คุณณุกูล ป้อมสกุล ผู้ที่ชอบงานศิลปะการวาดภาพ และต้องการเผยแพร่งานศิลปะภาพจิตกรรม ฝาผนังโบสถ์สมัยรัชกาลที่ 3 ของ วัดหน่อพุทธางกูร จึงเลือกที่จะวาดภาพลายไทยลงบนแจกันดินเผา นำผักตบชวามาสานแล้วก็นำมาเพิ่มมูลค่าให้กับแจกันดินเผาที่ทำอยู่ ซึ่งแปลกและสวย มีความหลากหลาย และแตกต่างจากคู่แข่งขันอื่น ด้วยความโดดเด่นจากเอกลักษณ์การวาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยม เป็นที่สนใจของลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าพร้อมทั้งมียอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วย

ความเป็นมา

นายณุกูล ป้อมสกุล เด็กหนุ่มจากบ้านธรรมกุล (บ้านพิหารแดง หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี) ซึ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี ได้มีโอกาสไปร่วมงานซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดจรรย์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบกับหมู่บ้านธรรมกุล ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายณุกูล ป้อมสกุล ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง และบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งที่ตั้งเตาเผาโบราณบ้านบางปูน ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลพิหารแดง จึงเกิดความสนใจและเริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของถิ่นเกิดภายในตำบลพิหารแดง เช่น เมืองเก่าบ้านธรรมกุล หมู่ที่ 5 เตาเผาบ้านบางปูน หมู่ที่ 3 ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดหน่อพุทธางกูร หมู่ที่ 1 เป็นต้น
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบ้านธรรมกุล จากการศึกษาพบว่า บ้านธรรมกุลเป็นเมืองเก่า ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองสุพรรณบุรี ประมาณ 1 กิโลเมตร ดังที่สุนทรภู่ กวีเอกในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้แต่งไว้ในหนังสือนิราศเมืองสุพรรณ บทที่ 157 เมื่อครั้งล่องเรือผ่าน ทางแม่น้ำท่าจีน ในสมัยนั้น ความว่า
บ้านตั้งฝั่งฟากน้ำ ธรรมกุล
วัดช่างปางก่อนสูญ สงัดเศร้า
ขอบเขื่อนเกลื่อนอิฐปูน เปื่อยเปล่า เจ้าเอย
โบสถ์ยับทับพระเจ้า เจิ่งน้ำกร่ำฝน
จากการศึกษายังพบอีกว่า บริเวณใกล้เคียงกันยังเป็นแหล่งเตาเผาโบราณหลายแห่ง เช่น เตาเผาบ้านบางปูน เตาเผาบ้านสมุน เตาเผาวัดชีสุขเกษม เตาเผาวัดพระนอน และเตาเผาบ้านธรรมกุล ดังสาระสำคัญจากหนังสือสุพรรณบุรี ประวัติศาสตร์ ศิลปหัตถกรรม และวัฒนธรรมท้องถิ่น ความว่า บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านธรรมกุล ซึ่งพบว่ามีภาชนะดินเผาหลายประเภทเป็นจำนวนมาก แสดงว่ามีการผลิตแบบอุตสาหกรรม นอกจากใช้ในท้องถิ่นแล้วยังเป็นสินค้าส่งออก อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิหารร้างอยู่ แสดงว่าการผลิตภาชนะดินเผา และการก่อสร้างเตา ต้องมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งอาจเป็นสุสานฝังศพเหมือนลักษณะที่พบในแหล่งเตาบ้านเกาะน้อยป่ายาง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการศึกษาทางโบราณคดี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อมูลสมมติฐานดังกล่าวอย่างรีบด่วน เพราะกำลังถูกทำลายจากธรรมชาติและการทำไร่ แหล่งเตาเผานี้น่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21
นอกจากจะเป็นแหล่งเตาเผาแล้ว ในหมู่บ้านใกล้เคียงอย่างหมู่บ้านพลุหลวง เป็นที่ตั้งของวัดหน่อพุทธางกูร ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชาวลาว 3 คนพี่น้อง ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ยังอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ประกอบกับจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งกำเนิดวรรณคดีชื่อดัง “ขุนช้าง - ขุนแผน” รวมถึงการละเล่นของเด็กไทยและวิถีชีวิตคนไทยในอดีต ที่กำลังเลือนหายไปจากสังคมไทย
ผลงาน “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” จึงเกิดจากความสนใจของ นายณุกูล ป้อมสกุล ที่ต้องการเผยแพร่งานศิลปะภาพจิตกรรม ฝาผนังโบสถ์ สมัยรัชกาลที่ 3 ของวัดหน่อพุทธางกูร ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องราววรรณคดี ขุนช้าง - ขุนแผน รวมทั้งการละเล่นของเด็กไทย และวิถีชีวิตคนไทยในอดีต จึงได้คิดผลิตชิ้นงานที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นตำบลพิหารแดง ที่มีการผสมผสานกันระหว่างงานหัตถกรรม (เครื่องปั้นดินเผาและการจักสานผักตบชวา) และงานจิตรกรรม เกิดงานศิลปกรรมบ้านธรรมกุล ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ชื่อกลุ่ม
กลุ่มศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล

ประเภทธุรกิจ
เป็นธุรกิจกิจการคนเดียว

เจ้าของ/ผู้ประกอบการ
นายณุกุล ป้อมสกุล

สถานที่ตั้ง
บ้านธรรมกุล เลขที่ 60 หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

หมายเลขโทรศัพท์
035-408400 , 089-8177856 , 085-1951392 , 089-1788494