วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

“แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย”


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
แนวคิดธุรกิจที่ดำเนินการ
นายณุกุล ป้อมสกุล เจ้าของผลิตภัณฑ์จิตรกรรมไทยร่วมสมัย ภายใต้ชื่อ “ศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล” เริ่มต้นเล่าถึงที่มาที่ไปของธุรกิจของเขาว่า “ผมเรียนมาทางด้านศิลปะ ด้วยความที่ถนัดวาดภาพ รักงานนี้มาก แต่ผมก็มองว่าหากวาดภาพขายอย่างเดียวคงไปไม่ถึงไหนแน่ จึงคิดที่จะเขียนลงบนวัสดุต่างๆ เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยให้มากขึ้น ผมเลือกที่จะวาดภาพลายไทยลงบนแจกันดินเผา ซึ่งด้วยรูปทรงที่โค้งมนก็เป็นอุปสรรคต่อการวาดอยู่บ้าง แต่เมื่อเพ้นท์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ความโค้งมนของแจกันกลับสามารถสร้างมิติให้ภาพวาดได้อย่างกลมกลืนและกลายเป็นเสน่ห์ของผลงานเราไปเลย
โอกาสธุรกิจและปัจจัยความสำเร็จ
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย ของกลุ่มศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ชาบ้านภาคภูมิใจเนื่องจาก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผสมผสานกับศิลปะจิตรกรรมบนฝาผนังโบสถ์ เป็นการสร้างอาชีพเสริมที่สามารถสร้างรายได้ในช่วงว่างจากทำเกษตรกรรม “แรกๆ เรามีปัญหาอยู่เหมือนกันในเรื่องของการทำตลาด เพราะผมผลิตอย่างเดียวแต่ไม่มี ที่ขาย ไม่มีหน้าร้าน พอดีมีสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของจังหวัดสุพรรณบุรี เขามาทำข่าวให้ หลังจากนั้นก็มีรายการโทรทัศน์มาถ่ายทำอีก ก็เริ่มเป็นที่รู้จัก ลูกค้าก็ติดต่อเข้ามาซื้อสินค้าถึงที่เลย”
ด้วยความโดดเด่นจากเอกลักษณ์การวาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ของนายณุกุล ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะซื้อไปจำหน่ายตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ต่อมาเมื่อเริ่มมียอดขายเพิ่มมากขึ้น นายณุกุลจึงคิดค้นความแปลกใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยการนำวัสดุอื่นๆ มาผสมผสาน เป็นที่มาของการจัดตั้งกลุ่มอาชีพศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุลขึ้น โดยกระจายงาน ให้กลุ่มแม่บ้านทำ ให้เขานำผักตบชวามาสานแล้วก็นำมาเพิ่มมูลค่าให้กับแจกันดินเผาที่ทำอยู่ ลูกค้าเห็นก็ชอบ เพราะมันแปลกและสวย พอทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็เพิ่มวัสดุอื่นๆ เข้ามาอีก เช่น กล่องไม้ แผ่นไม้ หรือไม่ก็เป็นภาพจิตรกรรมบนแผ่นเฟรม หลังจากมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงชุมชนได้ไม่นาน ทำให้พบปัญหาคือ การถูกลอกเลียนแบบ จึงคิดปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ดีขึ้น แต่ยังคงเน้นเอกลักษณ์ของบ้านธรรมกุลไว้
กลุ่มตลาดเป้าหมายและการคาดคะเนลูกค้าเป้าหมาย
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักได้แก่
กลุ่มผู้บริโภคที่นิยมการตกแต่งบ้าน สถาปนิก ร้านอาหาร กลุ่มเป้าหมายที่เป็นร้านค้า
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายรองได้แก่
กลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและ ชาวต่างประเทศ
ความได้เปรียบคู่แข่งขัน
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย ได้เปรียบคู่แข่งขันเพราะเป็นงานฝีมือที่มีความละเอียด ประณีตและสวยงาม มีความโดดเด่น มีคุณค่าเป็นธรรมชาติ แปลกตา มีความประณีตในการประดิษฐ์ ได้รับการคัดเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP 4 ดาวของจังหวัดสุพรรณบุรี และยังได้ออกงานแสดงสินค้าทั้งในและนอกประเทศอยู่เสมอ ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งขัน
ประเภทสินค้า นอกเหนือจาก “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” แล้ว ในกลุ่ม ศิลปกรรมพื้นบ้านบ้านธรรมกุล ยังมีผลงานที่คล้ายคลึงอีก 9 อย่าง ได้แก่
1) แจกันไม้หุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย
2) ชุดน้ำล้นเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
3) กล่องไม้เอนกประสงค์
4) แจกันปัดทองเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
5) ที่คั่นหนังสือ
6) โคมไฟ
7) พวงกุญแจ
8) ถาดใส่ผลไม้
9) แผ่นไม้สักโบราณเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
โอกาสและกลยุทธ์
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย เป็นผลิตภัณฑ์ในโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้านงบประมาณการอบรมฝีมือบุคลากรเพื่อให้เกิดความชำนาญการจัดแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งพบว่า ในปัจจุบันลูกค้าให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ชนิดนี้มากขึ้น แต่กำลังการผลิตยังไม่เพียงพอกับ ความต้องการของตลาด ด้านปัจจัยภายใน จุดแข็งจะอยู่ที่ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย มีแห่งเดียวในประเทศไทย ยังไม่มีคู่แข่ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ แต่ความไม่พร้อมด้านบุคลากร และช่างฝีมือวาดภาพศิลปะจิตรกรรมไทยยังมีน้อย
ขาดทักษะความชำนาญบวกกับขั้นตอนการผลิตที่มีหลายขั้นตอนต้องใช้เวลา ความชำนาญ ความประณีต เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพสมกับราคา ความไม่พร้อมด้านช่องทางการจำหน่าย และความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง ที่สำคัญคือ ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผา แนวจิตรกรรมไทยยังเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ทำให้การตลาดยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
จากการวิเคราะห์ดังกล่าว จึงนำทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนกำหนดเป็นกลยุทธ์ คือ สร้างตราสินค้า (BRAND) สร้างความจดจำ (REMINDY) พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (NEW PRODUCT) และมีวัตถุประสงค์ คือ การสร้างการรับรู้และจดนำตราสินค้า รับรู้คุณค่า และภาพลักษณ์ เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และสร้างรายได้และกำไร
สรุปความรู้ผู้บริหาร
ธุรกิจได้เกิดขึ้นจากแนวคิดของผู้ริเริ่มกิจการคือ คุณณุกูล ป้อมสกุล ผู้ที่ชอบงานศิลปะการวาดภาพ และต้องการเผยแพร่งานศิลปะภาพจิตกรรม ฝาผนังโบสถ์สมัยรัชกาลที่ 3 ของ วัดหน่อพุทธางกูร จึงเลือกที่จะวาดภาพลายไทยลงบนแจกันดินเผา นำผักตบชวามาสานแล้วก็นำมาเพิ่มมูลค่าให้กับแจกันดินเผาที่ทำอยู่ ซึ่งแปลกและสวย มีความหลากหลาย และแตกต่างจากคู่แข่งขันอื่น ด้วยความโดดเด่นจากเอกลักษณ์การวาด ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยม เป็นที่สนใจของลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าพร้อมทั้งมียอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วย

ความเป็นมา

นายณุกูล ป้อมสกุล เด็กหนุ่มจากบ้านธรรมกุล (บ้านพิหารแดง หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี) ซึ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี ได้มีโอกาสไปร่วมงานซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดจรรย์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบกับหมู่บ้านธรรมกุล ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายณุกูล ป้อมสกุล ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง และบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งที่ตั้งเตาเผาโบราณบ้านบางปูน ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลพิหารแดง จึงเกิดความสนใจและเริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของถิ่นเกิดภายในตำบลพิหารแดง เช่น เมืองเก่าบ้านธรรมกุล หมู่ที่ 5 เตาเผาบ้านบางปูน หมู่ที่ 3 ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดหน่อพุทธางกูร หมู่ที่ 1 เป็นต้น
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบ้านธรรมกุล จากการศึกษาพบว่า บ้านธรรมกุลเป็นเมืองเก่า ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองสุพรรณบุรี ประมาณ 1 กิโลเมตร ดังที่สุนทรภู่ กวีเอกในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้แต่งไว้ในหนังสือนิราศเมืองสุพรรณ บทที่ 157 เมื่อครั้งล่องเรือผ่าน ทางแม่น้ำท่าจีน ในสมัยนั้น ความว่า
บ้านตั้งฝั่งฟากน้ำ ธรรมกุล
วัดช่างปางก่อนสูญ สงัดเศร้า
ขอบเขื่อนเกลื่อนอิฐปูน เปื่อยเปล่า เจ้าเอย
โบสถ์ยับทับพระเจ้า เจิ่งน้ำกร่ำฝน
จากการศึกษายังพบอีกว่า บริเวณใกล้เคียงกันยังเป็นแหล่งเตาเผาโบราณหลายแห่ง เช่น เตาเผาบ้านบางปูน เตาเผาบ้านสมุน เตาเผาวัดชีสุขเกษม เตาเผาวัดพระนอน และเตาเผาบ้านธรรมกุล ดังสาระสำคัญจากหนังสือสุพรรณบุรี ประวัติศาสตร์ ศิลปหัตถกรรม และวัฒนธรรมท้องถิ่น ความว่า บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านธรรมกุล ซึ่งพบว่ามีภาชนะดินเผาหลายประเภทเป็นจำนวนมาก แสดงว่ามีการผลิตแบบอุตสาหกรรม นอกจากใช้ในท้องถิ่นแล้วยังเป็นสินค้าส่งออก อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิหารร้างอยู่ แสดงว่าการผลิตภาชนะดินเผา และการก่อสร้างเตา ต้องมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งอาจเป็นสุสานฝังศพเหมือนลักษณะที่พบในแหล่งเตาบ้านเกาะน้อยป่ายาง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการศึกษาทางโบราณคดี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อมูลสมมติฐานดังกล่าวอย่างรีบด่วน เพราะกำลังถูกทำลายจากธรรมชาติและการทำไร่ แหล่งเตาเผานี้น่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21
นอกจากจะเป็นแหล่งเตาเผาแล้ว ในหมู่บ้านใกล้เคียงอย่างหมู่บ้านพลุหลวง เป็นที่ตั้งของวัดหน่อพุทธางกูร ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชาวลาว 3 คนพี่น้อง ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ยังอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ประกอบกับจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งกำเนิดวรรณคดีชื่อดัง “ขุนช้าง - ขุนแผน” รวมถึงการละเล่นของเด็กไทยและวิถีชีวิตคนไทยในอดีต ที่กำลังเลือนหายไปจากสังคมไทย
ผลงาน “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” จึงเกิดจากความสนใจของ นายณุกูล ป้อมสกุล ที่ต้องการเผยแพร่งานศิลปะภาพจิตกรรม ฝาผนังโบสถ์ สมัยรัชกาลที่ 3 ของวัดหน่อพุทธางกูร ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องราววรรณคดี ขุนช้าง - ขุนแผน รวมทั้งการละเล่นของเด็กไทย และวิถีชีวิตคนไทยในอดีต จึงได้คิดผลิตชิ้นงานที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นตำบลพิหารแดง ที่มีการผสมผสานกันระหว่างงานหัตถกรรม (เครื่องปั้นดินเผาและการจักสานผักตบชวา) และงานจิตรกรรม เกิดงานศิลปกรรมบ้านธรรมกุล ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ชื่อกลุ่ม
กลุ่มศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล

ประเภทธุรกิจ
เป็นธุรกิจกิจการคนเดียว

เจ้าของ/ผู้ประกอบการ
นายณุกุล ป้อมสกุล

สถานที่ตั้ง
บ้านธรรมกุล เลขที่ 60 หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

หมายเลขโทรศัพท์
035-408400 , 089-8177856 , 085-1951392 , 089-1788494

วัตถุประสงค์

2.1 วัตถุประสงค์ทั่วไปของสินค้า
1. เพื่อเผยแพร่งานศิลปะภาพจิตกรรมไทย ฝาผนังโบสถ์ วัดหน่อพุทธางกูร และสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

2. เพื่อช่วยให้มีรายได้เพิ่มจากการขายผลิตภัณฑ์ให้ได้ราคา
3. เพื่อนำวัสดุธรรมชาติมาดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ในการใช้สอย
2.2 วัตถุประสงค์ทางการตลาดของสินค้า
1. เพื่อการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในและนอกประเทศ
2. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนไทย และชาวต่างประเทศหันมาอุดหนุนผลิตภัณฑ์
3. เพื่อสร้างมูลค่าให้กับของเหลือใช้ ด้วยการเพิ่มรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นและประเทศ

การสั่งสม สืบสานผลิตภัณฑ์

1. มีการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์งานปั้นรูปทรงต่าง ๆ ตามประโยชน์ใช้งาน
2. มีการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการจักสานลวดลายต่าง ๆ และป้องกันการเกิดเชื้อราบนผักตบชวา
3. มีการถ่ายทอดภูมิความรู้เพื่อสืบทอดให้แก่เยาวชนในหมู่บ้าน และบุคคล สนใจทั่วไป
4. มีการเรียนรู้และการถ่ายทอดมาจากสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

กลุ่มช่าง จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มช่างศิลป์ และกลุ่มงานจักสาน
กลุ่มช่างศิลป์
นางสาวจินตนา คำประดับเพชร
กลุ่มงานจักสาน
1. นางยุพดี ชูแก้ว
2. นางรำเพย ป้อมสกุล

วัสดุที่ใช้ในการผลิตผลงาน

1. แจกันดินเผา / เครื่องปั้นดินเผา
2. สีเคลือบ
3. สีฝุ่นตลับ
4. น้ำยาเคลือบ
5. น้ำมันวานิช
6. ผักตบชวา
7. น้ำเปล่า

แหล่งที่มาของวัสดุ

1. แจกันดินเผา สั่งทำที่โรงปั้นหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนายณุกูล ป้อมสกุล เป็นผู้ออกแบบรูปทรงของแจกันให้โรงงาน
2. สีเคลือบ สีฝุ่นตลับ น้ำยาเคลือบ และน้ำมันวานิช จัดซื้อจากร้านค้าในกรุงเทพมหานคร เพราะมีราคาถูก ส่วนวัสดุในท้องที่จังหวัดสุพรรณบุรีก็มี แต่ราคาแพง
3. ผักตบชวา จัดซื้อจากกลุ่มเครื่องจักสานบ้านดอนเจดีย์ ของผู้ใหญ่สงวน จำปาศักดิ์ อยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

เครื่องมือที่ใช้ในการผลิต

1. เครื่องรีดผักตบชวา
2. พู่กัน
3. กรรไกร
4. กาวลาเท็กซ์

ขั้นตอนกระบวนการผลิต/วิธีทำ

1. กระบวนการผลิต มีการพัฒนากระบวนการผลิต จากอดีตถึงปัจจุบัน
1) ออกแบบ คัดสรรภาชนะแจกันดินเผา
2) วาดภาพลงบนแจกันดินเผาโดยลอกเลียนแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดหน่อพุทธางกูร
3) มีการลงสี ทำเทกเจอร์ (Textures) ลงบนพื้นที่ที่เหลือของแจกัน
4) นำผักตบชวามาสานหุ้มแจกันผสมผสานกับการวาดภาพ
5) มีการพัฒนารูปแบบของแจกัน และลวดลายการสานใหม่ ๆ อยู่เสมอ
6) การพัฒนาจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นไม้
2. ขั้นตอนการผลิต มี 11 ขั้นตอน ดังนี้
1) เตรียมแจกันดินเผา ล้างให้สะอาด และตากแดดให้แห้ง
2) ทาสีขาวรองพื้น 3 ครั้ง ด้วยสีน้ำพลาสติก
3) ลงแปลน (วาดรูปจิตรกรรมลงบนเครื่องปั้นดินเผา)
4) ตัดเส้นด้วยสีดำ เช่น บ้าน ต้นไม้ ใบไม้ ฯลฯ
5) ตัดหน้าตาคน ตุ๊กตา
6) ลงพื้นผิว (Textures) (เทคนิคการลงพื้นผิว ไม่สามารถเปิดเผยได้)
7) เคลือบแลกเกอร์ ด้านรูปจิตรกรรม
8) ส่งให้สมาชิกจักสานผักตบชวา เป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายพิกุลผูก ลายมะกอก ลายกระบิด 4 เส้น
9) ตัดขอบด้านรูปจิตรกรรม แล้วนำผักตบชวาที่ถักเป็นเปียมาติดที่ขอบรูป
10) นำแจกันออกตากแดด 1 - 2 วัน
11) นำแจกันมาเคลือบวานิช และยูริเทน

ลายจักสานผักตบชวา

1) ลายพิกุลผูก
2) ลายมะกอก
3) ลายกระบิด 4 เส้น

ระยะเวลาการผลิต

ใช้เวลาประมาณ 5 - 7 วัน แต่จะทำได้หลายชิ้นต่อครั้ง แล้วแต่ขนาดของผลงาน ถ้ามีขนาดใหญ่ ประมาณ 10 ชิ้น แต่ถ้ามีขนาดเล็ก จะได้ประมาณ 100 ชิ้น

วัตถุประสงค์ของการผลิต

1. เพื่อจำหน่าย
2. เพื่อใช้สอยในครัวเรือน

ประโยชน์ / หน้าที่ใช้สอย

1. ตัวผลิตภัณฑ์ “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” บ่งบอกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความผูกพันของชุมชนกับศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิม
2. เป็นของใช้ประดับตกแต่งที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างงานหัตถกรรมและจิตรกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย วิถีชีวิตไทยที่สามารถเผยแพร่ไปสู่สากลได้อย่างภาคภูมิใจ
3. ใช้ประโยชน์ตามรูปลักษณะของผลิตภัณฑ์ เช่น แจกัน ถังไม้กอล์ฟ ถังใส่ผ้า โคมไฟ
ที่คั่นหนังสือ กล่องไม้ เป็นต้น
4. เป็นการใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ และสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน

ผลงานในกลุ่มที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

นอกเหนือจาก “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” แล้ว ในกลุ่มศิลปกรรมพื้นบ้านบ้านธรรมกุล ยังมีผลงานที่คล้ายคลึงอีก 9 อย่าง ได้แก่
1) แจกันไม้หุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย
2) ชุดน้ำล้นเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
3) กล่องไม้เอนกประสงค์
4) แจกันปัดทองเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย
5) ที่คั่นหนังสือ
6) โคมไฟ
7) พวงกุญแจ
8) ถาดใส่ผลไม้
9) แผ่นไม้สักโบราณเขียนลวดลายจิตรกรรมไทย

ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงาน

1) สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสุพรรณบุรี
2) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี
3) ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 จังหวัดสุพรรณบุรี
4) สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรี
5) สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุพรรณบุรี
6) สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี
7) สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน
8) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
9) สโมสรโรตารี่จังหวัดสุพรรณบุรี

10) สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี

การยกย่องจากสถาบันหรือการยอมรับของช่างในกลุ่ม/ชุมชนเดียวกัน

1) ได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ดีเด่น ระดับสี่ดาว ตามโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย
2) ได้รับรางวัลหมู่บ้านหัตถกรรม ประจำปี 2546 จากมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร
3) ได้รับรางวัลหมู่บ้าน OTOP ต้นแบบ จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี
4)ได้รับความสนใจจากรายการโทรทัศน์ “รายการ รอบรู้ OTOP” ทางช่อง 9 โมเดิร์นไนท์ทีวี โดยคุณสันติ เศวตวิมล (แม่ช้อยนางรำ)

ยอดขายและส่วนครองตลาด

ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา เป็นคุณค่าของงานหัตถกรรมฝีมือคนไทยที่ผสมผสานศิลปะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ลงในเครื่องปั้นดินเผาเพื่อให้งานออกมาทรงคุณค่า ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์สูง สำหรับผู้ที่รักความเป็นไทย
สำหรับยอดขายของผลิตภัณฑ์จักสานเครื่องปั้นดินเผาแนวจิตรกรรมไทย ในช่วงเวลา 1 เดือน สามารถทำยอดขายได้ประมาณ 200 ชิ้น เนื่องจากกำลังการผลิต ผลิตสินค้าได้เดือนละประมาณ 200 ชิ้น ผลิตเท่าไรก็ขายหมดทำให้ภายในเวลา 1 ปี ทางกลุ่มศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล มียอดขายผลิตภัณฑ์โดยรวมประมาณ 2,400 ชิ้น ซึ่งส่วนครองตลาดถ้าเป็นผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตกรรมไทยก็ถือว่าเต็ม 100 % เพราะคู่แข่งทางตรงยังไม่มีประกอบกับทางกลุ่มมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์หลายๆรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
หมายเหตุ : เนื่องจากทางกลุ่มมีผลิตภัณฑ์หลายชนิด หลายรูปแบบ หลายขนาด ทำให้ไม่ทราบยอดขายที่เป็นจำนวนเงิน (บาท) ทราบแต่เพียงยอดขายที่เป็นจำนวน (ชิ้น)-11-
กลยุทธ์ราคา (Pricing Strategies)
การกำหนดราคาสินค้า ทางกลุ่มใช้กลยุทธ์ราคาสูงเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดระดับสูงที่กำหนดไว้ การตั้งราคาสินค้าไว้สูงเพื่อแสดงถึงภาพลักษณ์ตำแหน่งสินค้าที่อยู่ในระดับสูง
กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion Strategies)
โดยทางกลุ่มใช้กลยุทธ์ดึง (Pull Strategy) ให้การส่งเสริมการตลาด เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ในการโฆษณาหรือการส่งเสริมการขายที่ทำให้กับผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง โดยการใช้ใบปลิว แผ่นพับ ให้กับคนที่ดูงานเพื่อเป็นรายละเอียดให้กับผู้ที่มาดูงาน
งบประมาณ
ราคา ราคาขายส่ง ราคาขายปลีก
400 บาท 600 บาท
ต้นทุนสินค้า
ค่าใช้จ่ายในการทำผลิตภัณฑ์
แจกันดินเผา 20 บาท
ค่าลงแปรน 35 บาท
ค่าตัดเส้น 45 บาท
ค่าสานผักตบ 80 บาท
ค่าติดเปีย 20 บาท
ค่าสี 50 บาท
ค่าทำเท็คเจอร์ 20 บาท
ค่าเคลือบวาณิช 4 บาท
ค่าเล็คเกอร์สเปรย์ 7 บาท
ค่าเล็กเกอร์ด้าน 3 บาท
ค่ายูริเทน 4 บาท
รวมต้นทุน 278 บาท
กำไร 122 บาท 322 บาท
หมายเหตุ : ราคาขายปลีกมาจากราคาขายส่ง x50% = 200+400 = 600 บาท
ราคา ราคาขายส่ง ราคาขายปลีก
600 บาท 900 บาท
ราคาขาย
ต้นทุนทางการตลาด
ค่าโสหุ้ย 9 บาท
ค่าบรรจุภัณฑ์ 170 บาท
ค่าป้ายฉลาก 1 บาท
รวมต้นทุนทั้งสิ้น 458 บาท
กำไร 142 บาท 442 บาท
หมายเหตุ : ราคาขายปลีกมาจากราคาขายส่ง x50% = 300+600 = 900 บาท
ต้นทุนป้ายฉลาก
ค่าเพจ 3,500 บาท ค่ากระดาษ 1,000 บาท
ค่าพิมพ์ 2,500 บาท ค่าแรงงาน 3,000 บาท
รวมค่าป้ายฉลาก 1,000 บาท (ทำได้ 10,000 ชิ้น จะได้ชิ้นละ 1 บาท)

บทวิเคราะห์

วิเคราะห์คุณค่าของผลงาน ลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์
“แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” เป็นของที่ระลึก ของใช้ประดับตกแต่งที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างงานหัตถกรรมและจิตรกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย วิถีชีวิตไทยที่สามารถเผยแพร่สู่สากลได้อย่างภาคภูมิใจ เป็นงานที่สื่อถึงวิถีชีวิตชาวชนบทดั้งเดิม ที่แสดงออกมาในรูปของจิตรกรรม ที่ลอกเลียนแบบจิตรกรรมฝาผนัง วรรณคดีไทย วิถีชีวิตคนไทย บ้านทรงไทย การละเล่นพื้นบ้าน ผนวกกับการจักสานผักตบชวาที่มีลวดลายพิกุลผูก ลายมะกอก และลายกระบิด ๔ เส้น ที่สวยงามหุ้มแจกันดินเผา ตลอดจนลักษณะพื้นผิวของงานที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนผู้ใด และไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะต้องใช้เวลาในการคิดค้นงานเป็นเวลานาน


วิเคราะห์คุณค่า ที่แสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน
ผลิตภัณฑ์จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเป็นคุณค่าของงานหัตถกรรมฝีมือคนไทยที่ผสมผสานศิลปะจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ลงในเครื่องปั้นดินเผาเพื่อให้งานออกมาทรงคุณค่า ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์สูง สำหรับผู้ที่รักความเป็นไทย มีความประณีต และละเอียดกว่ารูปแบบที่แปลกใหม่ที่ทำด้วยมือ ผู้บริโภคจะใส่ใจดูแลรักษาเป็นอย่างดี

กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญา

1. การออกร้านแสดงและจำหน่ายสินค้าในงานต่างๆ เช่น งานมหกรรมหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ งานอนุสรณ์ดอนเจดีย์ และงานกาชาดจังหวัดสุพรรณบุรี
2. การจัดแสดงสินค้าที่ไบเทค บางนา
3. การลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ คมชัดลึก หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น การประชาสัมพันธ์ผ่ายเว็บไซด์
www.thai tambom.com การให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ช่องต่างๆ
การถ่ายทอดภูมิปัญญา “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” โดยให้การสนับสนุน อนุเคราะห์ข้อมูลให้ นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ทั้งภาครัฐ เละเอกชน ประกอบการศึกษาหาความรู้ด้านภูมิปัญญา

สรุป เสนอแนะ การพัฒนาภูมิปัญญาตามสภาวะปัจจุบัน

ปัจจุบันทางกลุ่มผู้ผลิตเครื่องจักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย ได้คิดพัฒนาการทำบรรจุภัณฑ์ (Packaging Strategies) ให้กับสินค้าบางตัว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้สินค้าดูมีค่า และมีราคาที่สูงขึ้น ทั้งยังทำให้สินค้าปลอดภัยขณะขนส่ง ซึ่งบรรจุภัณฑ์นั้น ทางกลุ่มเลือกที่จะใช้ผักตบชวาสานหุ้มตัวสินค้าอีกที และบรรจุภัณฑ์นั้นยังสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ อย่างอื่นได้อีก สามารถเชิญชวนให้ลูกค้าเกิดความต้องการสินค้าด้วยหลักเหตุ และหลักจิตวิทยา

ตราสินค้า

การสื่อความหมายของตราสินค้า “จักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทยบ้านธรรมกุล” รูปเด็กไทยโบราณผมแกละ ก็เปรียบเสมือนความเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งจักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทยเป็นงานที่จัดทำขึ้นมาเพื่อแสดงความเป็นลงบนผลงาน และเป็นงานศิลปะที่ทำขึ้นจากภูมิปัญญาของชาวบ้านธรรมกุล
การใช้ตราร่วมสำหรับทุกผลิตภัณฑ์หรือเป็นวิธีการตั้งตราเดียวสำหรับผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของกลุ่ม จะทำให้คนรู้จักยิ่งขึ้นถ้าผลิตภัณฑ์เดิมได้รับความนิยมอยู่แล้ว ผลิตภัณฑ์ใหม่จะได้รับประโยชน์ตามไปด้วย ทำให้ประหยัดต้นทุนในการแนะนำผลิตภัณฑ์ ทางกลุ่มต้องการให้สินค้ามีชื่อตราว่า “เครื่องจักสานแจกันดินเผาแนวจิตรกรรมไทย” แล้วได้มาเปลี่ยนเป็น “THAI OF ART SUPHANBURI” เนื่องจากเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า ศิลปะไทยของสุพรรณบุรี และบ่งบอกถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ เพื่อต้องการให้ ตราสินค้าดูเป็นภาษาสากลเพิ่มขึ้น ทำให้มองถึงตลาดต่างประเทศที่ในอนาคตอาจจะต้องการ ส่งสินค้าไปขาย

ประวัติและผลงาน ของ นายณุกูล ป้อมสกุล



ชื่อ นายณุกูล ป้อมสกุล
เกิดวันที่ 11 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2520
ที่อยู่ อยู่บ้านเลขที่ 60 หมู่ที่ 5 ถนน - ซอย - ตำบลพิหารแดง
อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โทรศัพท์ - โทรสาร -






วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

การศึกษาวิเคราะห์เพลงร้องพื้นบ้าน "เพลงอีแซว" แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์


แนวคิดเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้าน จัดอยู่ในภูมิปัญญากลุ่มศิลปวัฒนธรรม และขนมธรรมเนียมประเพณี มีอารมณ์ และทัศนะของเจ้าของเป็นพื้นฐาน และมีเอกลักษณ์ของสังคม จึงมีความเรียบง่าย มากกว่าการปรุงแต่ง มีความสอดประสานกับสภาพจริงของวิถีชีวิตในสังคม และ เป็นองค์ความรู้ทางด้านดนตรีที่ชาวบ้านคิดขึ้นจากสติปัญญาและความสามารถของชาวบ้านเอง และได้สั่งสม สืบทอดต่อกันมาเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้นๆ

ความหมายของเพลงพื้นบ้าน

ความหมายของเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้าน
หมายถึง เพลงที่ชาวบ้านร้องเล่นกันจนเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต มีลักษณะประจำถิ่น แต่ละถิ่นจะมีท่วงทำนองละลีลาที่แตกต่างกันออกไปแต่มีแบบแผน ที่คล้ายคลึงกันจนถือเป็นวิถีของสังคมได้ มีการถ่ายทอดด้วยปากต่อปาก หรือการสังเกต จดจำ คือไม่ได้ใช้ตัวหนังสือ เป็นสื่อ เวลาร้องเล่นจะร้องโต้ตอบกัน ร้องคนเดียวหรือร้องพร้อมกันก็ได้ ใช้เครื่องประกอบจังหวะน้อยชิ้น อาจใช้การปรบมือเป็นจังหวะหรือไม่ใช้เครื่องประกบจังหวะเลย บางทีเรียกเพลงเหล่านี้รวมๆ กันไปว่าเพลงพื้นบ้านพื้นเมือง
กล่าวโดยสรุป เพลงพื้นบ้าน เป็นเพลงของชาวบ้านที่ใช้ร้องเล่นกันในท้องถิ่นของผู้คน มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีค่านิยม ความเชื่อของท้องถิ่นมักใช้ถ้อยคำเรียบง่าย มีสำนวนคมคายอันเกิดจากปฏิภาณไหวพริบ ร้องเล่นโต้ตอบกันระหว่างชายหญิงในงานเทศกาล หรืองานรื่นเริงต่างๆ หรือร้องเล่นเวลาประกอบกิจการงานอาชีพ มีการถ่ายทอดทางวาจาและการจดจำ ไม่มีการจดบันทึก

ลักษณะเฉพาะของเพลงพื้นบ้าน

ลักษณะเฉพาะของเพลงพื้นบ้าน
ลักษณะเพลงพื้นบ้าน จะมีความเรียบง่ายในถ้อยคำ เน้นความสนุกสนานเป็นหลัก เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นคำบอกเล่าจากพ่อเพลง แม่เพลง เนื้อหาสาระของเพลงพื้นบ้านที่ร้องกัน ดูเหมือนจะมีอย่างเดียว ไม่ว่าทำนองเพลงจะเป็นชนิดใด คือเรื่องผู้ชายเกี้ยวผู้หญิง แล้วผู้หญิงก็ตอบ หรือ ซักถาม หรือว่าผู้ชายให้เจ็บ ๆ เท่านั้น สิ่งสำคัญในการร้อง อยู่ที่ผู้ร้องเพลงต้องคิดด้นกลอนสด ร้องแก้กันด้วยปฏิภาณอันทำให้เกิดรสสนุกขึ้น ผู้ว่าเพลงมีความชำนาญ แคล่วคล่องขึ้น จึงคิดหาหนทางแยกแยะการร้องเพลงไปต่าง ๆ นานา เช่น ลักหา พาหนี ชิงชู้ ตีหมากผัว เป็นต้น
ทุกภาคของไทยมีเพลงพื้นบ้านในลักษณะที่เป็นเพลงปฏิพากย์ ( Dialogue Songs ) คือ “เพลงที่ชายหญิงร้องโต้ตอบกัน” มีความแตกต่างกันไปบ้าง ตามลักษณะวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น เช่น ภาษา ท่วงทำนอง เนื้อหา เครื่องดนตรี การร่ายรำ การแต่งกาย และโอกาสที่ร้อง ทั้งนี้จำแนกเพลงปฏิพากย์ตามภาคต่าง ๆ ออกได้เป็น 2 กลุ่ม ( ภูมิจิต เรืองเดช , 2529:54-55 )
1. เพลงปฏิพากย์ในภาคเหนือและภาคอีสาน มีส่วนที่เหมือนกันโดยพิจารณา จากบทร้องเป็นการ เกี้ยวพาราสีระหว่าง ชายหญิง เนื้อหาเป็นเรื่องความรัก ส่วนใหญ่ร้องเป็นบทเบ็ดเตล็ดมากกว่าเป็นเรื่องยาว ลักษณะการร้องไม่กระแทกลงจังหวะ แต่จะทอดเสียงให้เข้ากับทำนองเพลง เครื่องดนตรีเป็นประเภทเครื่องดีด เครื่องสี เครื่องเป่า
2. เพลงปฏิพากย์ในภาคกลาง และภาคใต้ เพลงพื้นเมืองภาคใต้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับเพลงภาคกลางมากที่สุด โดยเฉพาะในโวหารสองง่าม บางบทมีเค้าว่ามีการถ่ายทอดเนื้อเพลงไปต่อ ๆ กัน ทำให้เกิดการพ้องกันขึ้น
เพลงพื้นบ้าน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์ไว้ซึ่งใน จังหวัดสุพรรณบุรีมีเพลงพื้นบ้านที่ได้รับการยอมรับและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี คือ “เพลงอีแซว” โดยมีประวัติความเป็นมาและมีรายละเอียดเกี่ยวกับการแสดงเพลงอีแซว ดังนี้

ประวัติความเป็นมา


ประวัติความเป็นมา

ในสมัยก่อนมีงานชุมนุมใหญ่งานหนึ่งคือ งานนมัสการหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ในเดือน ๑๒ ซึ่งมีประจำทุกปี ชาวสุพรรณถือเป็นธรรมเนียมกันว่าต้องไปฟังเพลง ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร กันให้เป็นที่สนุกสนาน เนื่องจากผู้คนมาชุมนุมกัน ในงานดังกล่าว บรรดาพ่อเพลงแม่เพลง จากถิ่นต่าง ๆ ก็มาชุมนุมกันด้วยโดยปริยาย พวกมาเรือ ก็เล่นเพลงเรือ พวกมาทางบกก็เล่น เพลงอีแซว เพลงปรบไก่ แต่เพลงเกี่ยวข้าวไม่ค่อยมีเล่นกัน อาจจะเป็นเพราะเก็บไว้เล่นตอนลงแขกเกี่ยวข้าวกัน ก็เป็นได้ บรรดาเพลงดังที่กล่าวถึงนี้ เพลงอีแซว ดูเหมือนจะนิยมกันมาก ด้วยเหตุที่เป็นเพลงเร็ว จังหวะกระชั้น ผู้ร้องจะต้อง ปฏิภาณดี เรียกกันภาษาเพลงว่า มุตโตแตกฉาน ซึ่งความจริงแล้ว เพลงอีแซวก็มีลักษณะคล้ายกับเพลงฉ่อย แต่แปลกที่ว่าเพลงประเภทนี้นิยมกันแต่ในเมืองสุพรรณเท่านั้น เรื่องของเพลงอีแซวที่ร้องกันนั้นจะเริ่มจากบทไหว้ครู ทั้งชายและหญิง จากนั้นฝ่ายชายเป็นผู้เริ่มเรียกว่า ปลอบ ฝ่ายหญิงก็จะว่าบท รับแขก ดังนั้นฝ่ายชายจะวกเข้าหาบทเกี้ยว ฝ่ายหญิงจะรับด้วยบท เล่นตัว ฝ่ายชายจะว่าบท ออด ฝ่ายหญิงจะตอบด้วยบทเสียแค่นไม่ได้ คือ รับรัก จากนั้นฝ่ายหญิงจะขึ้นบท ชมนกชมไม้ ซึ่งบทนี้มักจะเป็นบทถามตอบกัน ระหว่างหญิงกับชายซึ่งให้ความรู้แก่ผู้ชมผู้ฟังมาก ยังมีแนวทางเล่น อีกแนวหนึ่งที่สะท้อนภาพสังคมได้ดี สังคมปัจจุบันเรียกว่า ชิงชู้ ซึ่งเป็นเรื่องในลักษณะ หนึ่งหญิงสองชาย กับ ตีหมากผัว ซึ่งเป็นเรื่องในลักษณะหนึ่งชายสองหญิง เป็นการแสดงแบบ ทะเลาะกัน ตามสภาพชีวิตจริง ผู้ว่าเพลงจะสอดแทรกมุขต่าง ๆ ลงไว้ในบทร้อง มีข้อความเสียดสี กินใจ สั่งสอน รวมทั้ง บทตลกคละเคล้ากันไป และจะไปลงท้ายด้วยบทขอขมาอภัยต่อการที่ได้สมมุติตัว และว่าบทเพลงล่วงเกินกันมาซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ และแสดงออกถึงวัฒนธรรม สามัคคีธรรมได้เป็นอย่างดียิ่ง จากนั้นก็จะเป็นการให้พรซึ่งกันและกันทั้งเจ้าภาพและผู้ฟังก่อนที่จะล่ำลาแยกย้ายกันไป
หากวิเคราะห์แล้วเพลงอีแซว มีกำเนิดมาจากการเล่น เพื่อความสนุกสนานในงานประจำปีของวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี ในเดือนห้า และเดือนสิบเอ็ดของบรรดา พ่อเพลงแม่เพลงในท้องถิ่นต่างๆ เมื่อมีคนชมและเกิดความชื่นชอบมากขึ้น จึงกลายเป็นการเล่นเพลงเพื่อเป็นอาชีพ โดยผู้บุกเบิกในยุคแรกนั้น คือพ่อไสว สุวรรณประทีป กับ แม่บัวผัน จันทร์ศรี ทั้งสองท่านเป็นบุคคลที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ ท่านได้ทำการฝึกหัดเด็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติด้วยกันที่บ้านของท่าน โดยให้ฝึกทั้งการขับร้องและ การฟ้อนรำควบคู่กันไป เมื่อมีความสามารถในระดับที่แสดงได้ท่านจึงให้ออกแสดงร่วมกับคณะ ดังนั้น จึงนับได้ว่าเพลงร้องที่เกิดในอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเพลงร้องที่มีความเก่าแก่ และมีการสืบสานต่อกันมาเป็นช่วงๆ ทั้งยังเป็นบทเพลงที่สร้างรายได้ให้แก่ศิษย์ในรุ่นหลัง ตลอดจนการแพร่หลายของบทเพลงนำไปสู่การเรียนการสอนในระบบโรงเรียน มีการนำเพลงพื้นบ้านมาให้นักเรียน นักศึกษาได้ฝึกหัดขับร้อง เพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน เพลงร้องพื้นบ้านอันเป็นภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าของจังหวัดสุพรรณบุรี

ลักษณะทั่วไปของเพลงอีแซว

การแต่งกายผู้แสดง
ฝ่ายชาย นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลมหรือคอพวงมาลัย สีของเสื้ออาจเป็นสีพื้นหรือลายดอก มีผ้าขาวม้าผูกเอว หรือใช้สำหรับพาดไหล่
ฝ่ายหญิง นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อตามความเหมาะสมกับอายุ และวัย ห่มสไบ ส่วนเครื่องประดับนั้นมักมีตามความเหมาะสม ส่วนใหญ่จะเป็นของส่วนตัว ในปัจจุบันเสื้อของ ผู้แสดงฝ่ายหญิงมักจะออกแบบให้ทันสมัย เป็นผ้าลูกไม้บ้าง ผ้าที่ความมันและแวววาวบ้าง ตัดเย็บ อย่างสวยงามเพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้ชม

อุปกรณ์ประกอบ,เครื่องดนตรีประกอบ


อุปกรณ์ประกอบ
พานดอกไม้ธูปเทียน (พานกำนล) สำหรับใช้ในการไหว้ครู นอกจากนี้ยังมีเงิน
คำนับครูใส่อยู่ในพานกำนลด้วย


เครื่องดนตรีประกอบ
1. กลองตะโพน (ผู้นำมาใช้ประกอบการแสดงคนแรกคือ พ่อไสว วงษ์งาม)
2. ฉิ่ง
3. กรับ

บทร้อง เนื้อหาสาระ

บทร้อง เนื้อหาสาระ
เพลงอีแซวมีจะดำเนินการแสดงโดยมีเนื้อหาเรียงลำดับ เริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู บทเกริ่น บทประ และจบท้ายด้วยบทจาก หรือบทลา
1. บทไหว้ครู เป็นบทกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้มีพระคุณ ได้แก่ พระรัตนตรัย เทวดา ภูตผี พ่อแม่ ครูอาจารย์ ( ครูเพลงของอีแซวจะมีสองแบบ “ครูเพลงที่เป็นจิตวิญญาณ” เช่นพระนารายณ์ ฤาษีหรือพ่อแก่ และครูอีกประเภทคือ “ครูเพลงที่เป็นมนุษย์” นอกจากครูเพลงทั้งสองแบบแล้ว ก็มี “ครูพักลักจำ” ซึ่งหมายถึงครูที่ผู้ร้องไม่ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ แต่ได้ แอบจดจำเพลงหรือลีลา ) การร้องบทไหว้ครูจะต้องนั่งกับพื้นร้อง โดยมี “พานกำนล” หรือ พานไหว้ครูวางไว้ข้างหน้า หรือยกถือไว้ในขณะร้อง โดยพ่อเพลงจะร้องก่อน ตามด้วยแม่เพลง
2. บทเกริ่น เป็นบทร้องของฝ่ายชายและหญิงก่อนที่จะ มาพบกันตามเหตุการณ์ที่สมมุติไว้ บทเกริ่นเริ่มต้นภายหลังจาก บทไหว้ครูจบลง ผู้แสดงทั้งหมดจะลุกขึ้นยืนร้อง “เพลงออกตัว” มีเนื้อหาทักทายกัน แนะนำตัว ฝากตัวกับผู้ชม ตามด้วย “เพลงแต่งตัว” หากสมมุติเหตุการณ์เป็นการชักชวนกันไปเที่ยวบ้าน สาวๆ พอมาถึงบ้านฝ่ายหญิงแล้วจะร้อง “เพลงปลอบ” ซึ่งเป็น เพลงที่ชักชวนให้ฝ่ายหญิงออกมาร้องเพลงโต้ตอบกัน
3. เพลงประ หมายถึงการร้องปะทะคารมกันของทั้งสอง ฝ่าย เพลงประของวงอีแซวมีหลายแบบ ได้แก่ แนวรัก (การเกี้ยว พาราสี) แนวประลอง (การทดสอบฝีปากหรือทดสอบภูมิปัญญา) และแนวเพลงเรื่อง (ดำเนินเรื่องราวตามเรื่องของ นิทาน นิยาย หรือวรรณกรรม)
4. บทจาก หรือ บทลา เป็นบทร้องที่ร้องในตอนใกล้จะเลิกการแสดงเพลง ลักษณะคำร้องจะมีความหมายในเชิงอาลัยอาวรณ์ไม่อยากจากลาต่อกัน ระหว่างพ่อเพลงกับแม่เพลงและระหว่างพ่อเพลง แม่เพลงกับผู้ชมที่ชมการแสดง โดยมักกล่าวอ้างถึงเวลาเป็นสิ่งสำคัญ
5. การอวยพร เป็นบทที่นิยมร้องไว้ตอนท้ายสุดของการแสดง หรือบางท้องที่ อาจร้องในตอนเริ่มต้น ลักษณะคำร้องเป็นการอวยชัยให้พร โดยอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจคุณพระรัตนตรัย เทพยดา ความสวัสดิมงคลทุกประการ มาคุ้มครองป้องกันให้มีความสุขตลอดไป มักร้องด้วยลีลาที่ช้าและชัดเจน ส่วนใหญ่จะเน้นแนวการขับร้องทางหวานไพเราะกังวาน เพื่อสะกดผู้ชม ให้เกิดความซาบซึ้งและต้องการที่จะชมการแสดงในครั้งต่อไปอีก
นอกจากบทร้องที่มีการขับร้องเป็นจารีตหลายลักษณะแล้ว ยังมีเนื้อหาสาระของบทเพลงที่กล่าวถึงเรื่องราวที่จะขับร้อง ซึ่งแต่เดิมจะเรียกกันว่า ตับ เช่น ตับหมานิล ตับควาย ตับชิงชู้ ตับตีหมากผัว เป็นต้น โดยแต่ละตับจะมีเอกลักษณ์ของคำร้องที่สนุกสนานเฉพาะตัว ทั้งยังเป็นการแสดงถึงความสามารถด้านการขับร้องของพ่อเพลงแม่เพลงเป็นอย่างมาก

วิธีการขับร้อง

วิธีการขับร้อง
การขับร้องเพลงอีแซวเป็นการขับร้องอีกประเภทหนึ่งทีมีเอกลักษณ์เป็นแบบเฉพาะ จะมีวิธีการขับร้องในลักษณะ ดังนี้
1. การร้องเอื้อนก่อนการร้องเนื้อเพลง จากคำบอกเล่าของศิลปินทำให้ทราบว่าการร้องเอื้อนนั้นจะมีการร้องที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถของผู้ร้อง ตลอดจนประสบการณ์ที่ผู้ร้อง แต่ละคนจะสามารถขับร้องให้เป็นเอกลักษณ์ของตน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการร้องเอื้อนแบบทั่วไปที่เป็นการใช้คำเอื้อนแบบง่ายๆ คือ
“เอ่อ ฮึ เงอ เฮ้อ เอิง เงอ เหอ่อ เอ๊อ เงอ เฮ่อ เออ เอ่ย”
การร้องคำเอื้อนนี้ส่วนใหญ่จะร้องเพียงคนที่ขึ้นต้นคนแรกเพียงคนเดียว เปรียบเสมือนการตั้งเสียงใน การร้อง ส่วนคนที่จะร้องต่อไปนั้นไม่ต้องขึ้นร้องเอื้อน จะร้องคำร้องได้เลย
2. การร้องรับลูกคู่ ลูกคู่จะร้องรับก็ต่อเมื่อผู้ร้องที่เป็นพ่อเพลง หรือแม่เพลงทอดเสียงแล้วเอื้อนเสียง ลูกคู่จะรับ คำว่า แล้ว......( สองคำลงท้าย) เช่น
เพลงพวงมาลัยบ้างก็ใส่เพลงฉ่อย........(เอิงเอย) ลูกคู่รับ “ แล้วเพลงฉ่อย ”
ทั้งลูกคู่ลูกค่อยต่างก็พลอยกันไป......(เอิงเอย) ลูกคู่รับ “ แล้วกันไป ”
กรณีสองคำลงท้ายเป็นคำที่มีสามพยางค์ เช่น จรลี ชลาลัย ลูกคู่ต้องรับให้เต็มคำ คือรับว่า จรลี ชลาลัย ไม่ต้องร้องรับคำว่าแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ถูกหลักของคำในภาษาไทย
ในการขับร้องเพลงอีแซว เดิมใช้การปรบมือเพียงอย่างเดียว หรือบางครั้งมีการเป่าแคนประกอบ จะไม่มีข้อกำหนดเรื่อง จำนวนผู้แสดง แต่ในวงหนึ่งๆ จะมีการจัดสรรตำแหน่งหน้าที่ ของผู้แสดงประกอบด้วย พ่อเพลง (ผู้ร้องนำฝ่ายชาย) แม่เพลง (ผู้ร้องนำฝ่ายหญิง) คอต้น (ผู้ร้องเพลงโต้ตอบคนแรก) คอสอง , คอสาม (ผู้ร้องคนที่สองและ สาม) และ ลูกคู่ (จำนวนไม่จำกัด มีหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำความ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะ เพื่อความสนุกสนาน) ต่อมาภายหลังจนถึง ยุคปัจจุบันนี้ นิยมนำตะโพนไทย หรือบางที่ก็จะใช้เครื่องหนังมาตีประกอบ รวมถึงเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง กรับ เพื่อให้เกิดความสนุกสนานใน การแสดง
นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการโดยการทำทำนองดนตรีจากเครื่องดนตรีสากล คือ คีย์บอร์ด จนถึงการนำระบบคอมพิวเตอร์ มาใช้ในการทำทำนองดนตรีประกอบการขับร้องเพลงอีแซว

โอกาสในการร้อง

โอกาสในการร้อง
นิยมร้องเล่นในงานเทศกาลต่างๆ ของไทย ได้แก่ ตรุษสงกรานต์ กฐินผ้าป่าของชุมชนนั้น ๆ หรืองานนักขัตฤกษ์ โดยมิได้มีการว่าจ้างแต่อย่างใด ต่อมาในยุคของ พ่อไสว วงษ์งาม และแม่บัวผัน จันทร์ศรี เริ่มมีการเล่นเพลงเป็นอาชีพ โดยมีการว่าจ้างให้ไปแสดงในที่ต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียง และต่างพื้นที่บ้าง ส่วนใหญ่จะไปแสดงในงานอุปสมบท งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรืองานอวมงคล เช่น งานศพ ยกเว้นเพียงงานเดียวที่จะไม่เป็นที่นิยมในสมัยนั้นคือ งานแต่งงาน เพราะถือว่าคำร้องที่ใช้ร้องอาจรุนแรงความหมายบางคำร้องไม่สุภาพ และไม่เป็นมงคล รวมทั้งการแสดงอาจช้าไม่ทันใจผู้ชม ส่วนในยุคปัจจุบันนี้มักมีการร้อง ในงานต่าง ๆ เช่น งานวัด งานกิจกรรม งานรื่นเริงของหน่วยงาน ชุมชน บุคคล โดยมีค่าจ้างตอบแทนให้แก่ศิลปิน

สถานที่ เวที ฉาก

สถานที่ เวที ฉาก
การแสดงเพลงพื้นบ้านเพลงอีแซวเดิมไม่มีการสร้างเวทีสำหรับแสดง มักนิยมแสดงตามลานบ้าน ลานวัด หรือที่โล่งแจ้ง ต่อมาจึงมีการสร้างเวทีสำหรับแสดงซึ่งเป็นเวทียกพื้นสูงพอประมาณเพื่อให้ผู้ชมสามารถรับชมการแสดงได้อย่างทั่วถึงและชัดเจน ซึ่งขนาดของเวทีมีพื้นที่ไม่มากแต่ให้เพียงพอกับจำนวนผู้เล่น ในกรณีที่แสดงในเวลากลางคืนเดิมใช้แสงสว่างจากคบไฟ ตะเกียง ปัจจุบันใช้แสงสว่างจากระบบไฟฟ้า นับว่าการขับร้องเพลงอีแซวในด้านของสถานที่แสดงเริ่มมีวิวัฒนาการที่ทันยุคสมัยยิ่งขึ้นตามกาลเวลา

วิเคราะห์วรรณกรรม

การวิเคราะห์วรรณกรรม
แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ เป็นแม่เพลงพื้นบ้านที่มีความสามารถมีปฏิภาณไหวพริบและมีพรสวรรค์ ทั้งในการประพันธ์ แม่ขวัญจิตไม่มีการศึกษาสูงแต่ก็สามารถประพันธ์เพลงได้ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและการว่ากลอนสดๆ ได้อย่างคล่องแคล่วและมีความไพเราะ ส่วนด้านการแสดงเพลงพื้นบ้านถือได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถและมีกลวิธีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้มุขตลกการด้น การใช้น้ำเสียงท่าทางและการปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป เป็นการแสดงพื้นบ้านที่เป็นอาชีพ
1. คุณค่าทางภาษา
การสร้างสรรค์บทเพลงในด้านเนื้อหา พบว่า มีเนื้อหาที่สะท้อนแง่คิดเกี่ยวกับวัฒนธรรม และสังคมไทยอย่างเด่นชัดหลายแง่มุม เพราะแม่ขวัญจิตมีความสามารถในการประพันธ์และฉับไวในความคิด โดยจะนำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมาประยุกต์แต่งไว้ในบทเพลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สังคมหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ตาม และสามารถบันทึกเรื่องราวต่างๆได้
การสร้างสรรค์บทเพลงด้านภาษา พบว่าแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ มีการใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารและกลวิธีสร้างภาพพจน์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เพลงพื้นบ้านของ แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ มีความไพเราะและเป็นที่นิยมของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน ลักษณะเด่นที่สุด คือ เรียบง่าย แต่เป็นความเรียบง่ายที่สมบูรณ์ มีการใช้ถ้อยคำหลายลักษณะมีการเล่นคำ การเล่นสัมผัส ความสวยงามนั้นเกิดจากการเลือกสรรถ้อยคำมาร้อยเรียงกันอย่างเหมาะเจาะ ทำให้เกิดความงาม และได้อารมณ์อย่างดียิ่ง โดยเฉพาะการใช้คำไทยแท้ต่าง ๆ นั้นจะทำให้ผู้ฟังได้รับรสและบรรยากาศอย่างไทยจริง ๆ เพลงพื้นบ้านจึงเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งในบทร้อยกรอง ก่อให้เกิดความไพเราะทางด้านเสียงเป็นสำคัญ สื่อความหมายตรงไปตรงมาแบบชาวบ้าน มีความหมายที่ลึกซึ้ง กินใจ แสดงให้เห็นการมีศิลปะในการใช้ภาษาอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความงามเด่นชัดทั้งในเสียง คำ ความหมาย ตลอดรวมถึงด้านจินตนาการ อารมณ์ความรู้สึกอีกด้วย การใช้ถ้อยคำในเพลง จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยลักษณ์ ในเชิงภาษาได้อย่างดียิ่ง จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ดังนี้
ที่จังหวัดสุพรรณนั้นมีงานวัดป่า คนทุกทิศมุ่งมาที่วัดป่าเลไลย์
ปิดทองหลวงพ่อโตแล้วก็โมทนา ให้บุญกุศลรักษามีชีวาสดใส
ได้ทำบุญสุนทานก็เบิกบานอุรา สุขสันต์หรรษาทั่วหน้ากันไป
ได้ดูลิเกละครเวลาก็ค่อนคืนแล้ว เพลงฉ่อยเพลงอีแซวก็เจื้อยแจ้วปลุกใจ
2. คุณค่าทางด้านสังคม และอารมณ์
เพลงอีแซวเป็นมรดกทางปัญญาที่ได้สะสมสืบต่อกันมานาน จึงเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตและบทบาทต่อสังคม เป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตและสังคม สามารถทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์คล้อยตาม โดยเฉพาะการใช้“มุขตลก” ทำให้มนุษย์มีความสุข มีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งผู้ร้องจะปะทะคารมเพื่อชิงไหวชิงพริบ มักจะแทรกอารมณ์ขันด้วยการล้อเลียน ยั่วเย้า หรือพูดลดเลี้ยวเรื่องเพศอยู่เสมอให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้ฟัง จึงผ่อนคลายความตึงเครียดของสมอง เป็นวิธีบำบัดทางจิตใจได้ทางหนึ่ง จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ดังนี้
ถ้าได้แม่ทองเนื้อถี่งานการพี่มิให้ทำ พี่จะอุปถัมภ์มิให้ร้อนพระทัย
จะบุกเลนถอนหลุ่ม แหวกตมฟันตอ เรื่องงานพี่ไม่ท้อพี่ก็คนชาติไทย
จะทำไร่ล้อมรั้วปลูกถั่วกลางนา ใครไปใครมาจะพาน้องเก็บขาย
จะปลูกกล้วยไข่ให้น้องนั่งขายกล้วยแขก จะให้แม่หนูนั่งแหกแล้วขาขาย ฯ
3. คุณค่าทางศีลธรรม
งานสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของกลุ่มชนในท้องถิ่นมิให้สูญหาย เนื้อหาส่วนใหญ่จึงมุ่งสอนใจแก่ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่เป็นสำคัญ โดยเฉพาะความรู้เรื่องเกี่ยวกับการเลือกคู่ครอง เพศศึกษา ศิลปะการครองเรือน การมีคุณธรรม จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ดังนี้
ฉันเกิดมาเป็นสตรีเมื่อฉันจะมีคู่สอง นัยน์ตามีก็ต้องมองให้เหมาะแก่ความมุ่งหมาย
ถ้ามีผัวไร้ผลต้องอายทั้งคนทั้งหมา ฉันยังไม่เดินหลับตาฉันกลัวจะตกเหวตาย ฯ
4. คุณค่าด้านวัฒนธรรม
การรับอิทธิพลวัฒนธรรมทางตะวันตก ทำให้คนรุ่นใหม่ทั้งในสังคมหันหลังให้กับวัฒนธรรมเดิมของตน มารับสิ่งใหม่ๆ การเลียนแบบประเพณีบางอย่างที่ไม่เหมาะสม การแสดงออกในเรื่องเพศอย่างเปิดเผย เพลงอีแซวได้บันทึกและถ่ายทอดวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทย ได้สะท้อนให้ผู้ฟังได้เห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรม ทำให้ผู้ฟังเกิดจิตสำนึกและหันมาช่วยกันสืบทอดหรือผดุงรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามให้คงอยู่ จะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น ดังนี้
จรรยามารยาทอย่าให้ขาดบกพร่อง เราต้องเปลี่ยนสมองให้ทันสมัย
การพูดการจากิริยาเย่อหยิ่ง ไม่ว่าชายและหญิงจะใช้คำพูดคำใหญ่
อย่าได้พูดเสียดสีอ้ายอีไม่เอา อย่าพูดเอ็ดเสียงอ้าวล้วนแต่สิ่งอับอาย ฯ
5. ด้านเศรษฐกิจ
ปัจจุบันการเล่นเพลงอีแซวทำรายได้ให้กับแม่ขวัญจิต และคณะ จนสามารถยึดเป็นอาชีพหลัก พ่อเพลงแม่เพลงจะเป็นศิลปินหรือพ่อเพลงอาชีพเต็มตัว มีการรับงานแสดงตามสถานที่ต่างๆ ตลอดปี ทำรายได้เพียงพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเจือจุนสมาชิกภายในครอบครัวได้พอสมควร ทำให้ฐานะทางการเงินค่อนข้างดี มีสภาพความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตดีสะดวกสบาย นำรายได้มาใช้จ่ายซื้อสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นใน ชีวิตประจำวัน หรือเครื่องใช้ และเครื่องอำนวยความสะดวกในการแสดงเพลง เช่น เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย เครื่องเสียง และรถยนต์ประจำคณะ
6. ด้านค่านิยม ความเชื่อเรื่องวิญญาณของครูเพลง
6.1 ความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของครูเพลงที่ล่วงลับไปแล้ว
ความเชื่อในเรื่องอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของครูเพลงนั้นสืบทอดมานานในหมู่ชาวเพลง จากการสัมภาษณ์แม่ขวัญจิตยืนยันว่าอำนาจหรืออิทธิฤทธิ์ของครูเพลงนั้นมีจริง ซึ่ง นายไสว สุวรรณประทีป เคยเล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งเคยเล่นเรื่องพระเวสสันดร รับบทเป็นชูชก ก่อนแสดงได้ทำพิธีไหว้ครูเพลงขอพรให้เล่นได้ดีเหมือนครูที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อเอาหัวชูชกครอบศีรษะเท่านั้นรู้สึกขนลุกทันที พอออกแสดงแล้วไม่รู้สึกตัวเลย สามารถแสดงท่าทางต่างๆ ได้เองเหมือนครูมาเข้าสิงสู่ให้แสดงเช่นนั้น ถ้าไปเล่นเพลงที่ใดก็ตามถ้าวันนั้นไหว้ครูแล้วขนลุกซู่ วันนั้นเล่นเพลงสนุกสนานอย่างยิ่ง แต่ถ้าวันไหนบอกเล่าแล้วรู้สึกเฉยๆ จะเล่นได้ไม่ดีไม่สนุกเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตามพ่อเพลงแม่เพลงทุกคนจะมีความเคารพนับถือครูเพลงของตนทั้งที่มีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว โดยเฉพาะครูเพลงที่เสียชีวิตแล้วนั้น ชาวเพลงจะเคารพนับถืออย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่าวิญญาณของครูเพลงมีพลังอำนาจสามารถดลบันดาลให้ตนประสบความสำเร็จในการเล่นเพลงหรือประสบความหายนะก็ได้ ดังนั้น ชาวเพลงต้องปฎิบัติต่อครูเพลงให้ถูกต้องตามแบบอย่างคือ มีความเคารพบูชาและรักษาสัตย์ที่เคยปฎิบัติหรืออ้อนวอนขอสิ่งหนึ่งสิ่งใดไว้ หากทำผิดแบบแผนหรือไม่รักษาคำพูดของตน ก็จะถูกครูเพลงลงโทษต่างๆ นานา การไม่รักษาสัตย์กับครูเพลงก็จะถูกทำโทษด้วยเช่นกัน
อนึ่งความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของครูเพลงนี้น่าจะมีพื้นฐานมาจากความเชื่อเรื่องผีหรือวิญญาณอันเป็นความเชื่อดั่งเดิมที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจของคนไทยมาช้านานยิ่งถ้าบังเอิญครูเพลงที่ล่วงลับไปแล้วมีความสัมพันธ์เป็นพ่อแม่หรือญาติมิตรด้วยแล้ว ก็จะกลายเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษที่ชาวเพลงเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ และต้องเคารพบูชามากยิ่งขึ้น การปฏิบัติตนจึงต้องเคร่งครัดมากเป็นพิเศษ และด้วยเหตุที่ชาวเพลงมีความเชื่อเรื่องครูเพลงดังกล่าวจึงแสดงออกด้วยการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่ พิธีจับมือหรือจับข้อมือ เป็นพิธีที่ผู้ประสงค์จะหัดเพลงกระทำกับครูเพลงก่อนฝึกหัด เป็นการแสดงออกถึงการเคารพนับถือครูเพลงยอมเป็นศิษย์ให้คูอบรมสั่งสอน ขณะเดียวกันก็เป็นพิธีที่แสดงถึงการยอมรับของครูว่าจะรับฝึกสอนศิษย์ผู้นั้น กล่าวคือ เป็นการยอมรับเป็นครูเป็นศิษย์อย่างถูกต้องตามแบบแผนประเพณีนิยมนั่นเอง พิธีครอบครูหรือ ครอบเครื่อง เป็นพิธีไหว้ครูหรือแสดงตัวเป็นศิษย์ของครูเพลงที่ล่วงลับไปแล้ว การครอบครูเป็นพิธีใหญ่ส่วนมากจะทำเฉพาะผู้ที่พร้อมเครื่องคือ ครอบเฉพาะตัวละครนั้นๆ พิธีคำนับครู เป็นพิธีไหว้ครูที่ชาวเพลงส่วนใหญ่ทำเป็นประจำทุกปี ถือว่าเป็นการแสดงความเคารพสักการะครูเพลง ความก้าวหน้าในการล่นเพลงต่อไป การจัดพิธีคำนับครูนี้นอกจากจะเชิญครูเพลงแล้วยังรวมไปถึงเครื่องดนตรีต่างๆด้วย สำหรับการกำหนดวันทำพิธีคำนับครูแต่ละคณะจะต่างกัน
5.2 ความเชื่อเรื่องโชคลาง เป็นความเชื่อเบ็ดเตล็ดของพ่อเพลงแม่เพลง เช่น การไม่หันหน้าเวทีไปทางทิศตะวันตก หรือนั่งไหว้ครูจะไม่หันไปทางทิศตะวันตก เพราะถือเป็นทิศที่ไม่ดีไม่นำความเจริญมาให้ตน หรือการไม่เล่นเพลงในงานแต่งเพราะเชื่อว่าจะนำความวิบัติ มาให้คณะ การปฎิบัติตามความเชื่อ และธรรมเนียมประเพณี ดังกล่าวนี้ นอกจากจะทำให้ได้รับการยอมรับจากผู้ร่วมอาชีพ และผู้ชมทั่วไปยังทำให้พ่อเพลงแม่เพลงเกิดความมั่นใจและภูมิใจ ในการเล่นเพลงด้วย
บทสรุป
การอนุรักษ์ เผยแพร่วัฒนธรรม การพัฒนาภูมิปัญญาตามสภาวะปัจจุบัน

เพลงอีแซวเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมากจาก นางเกลียว เสร็จกิจ หรือ แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง สามารถสร้างสรรค์เนื้อเพลงและรูปแบบการแสดงได้อย่างโดดเด่น ได้เผยแพร่ผลงานเพลงพื้นบ้านตามสถาบันต่างๆ และได้รับเชิญไปร้องเพลงตามสถานีวิทยุและรายการโทรทัศน์ต่างๆ จนทำให้เพลงอีแซวเป็นที่รู้จัก ของประชาชนทั่วประเทศ ขวัญจิต ศรีประจันต์ เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเผยแพร่อนุรักษ์เพลงพื้นบ้านของไทย และช่วยเหลือสังคมอยู่เสมอ และเมื่อปี พ.ศ. 2539 จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติประกาศ เกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซว) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สร้างชื่อเสียงและนำความภาคภูมิใจมาให้จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นอย๋างมาก ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เกิดความสนใจและหันมานิยมเพลงอีแซวกันอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้เกิดการรวมตัวตั้งเป็นคณะเพลงอีแซวกันมากขึ้นทั้ง ภายในและนอกชุมชน ตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย (แบบชุมชน) ชื่อ "ศูนย์การเรียนรู้เพลงอีแซวพื้นบ้าน"
การแสดงปัจจุบันคณะเพลงอีแซว ได้นำเพลงลูกทุ่ง หรือเพลงตามสมัยนิยม มาร้องเสริม หรือ สลับรายการ และได้นำเครื่องดนตรีสากล เช่น กลองชุด กลองทอม เบส มาใช้ประกอบการแสดง รวมทั้งมีการประดับตกแต่งเวทีด้วยไฟแสงสีต่างๆ ทำให้ทั้งเวทีและการแสดงมีความสวยงามและสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้มาก อย่างไรก็ตาม ได้พัฒนา ปรับประยุกต์รูปแบบของการแสดง เพื่อให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมมาโดยตลอด ให้เป็นที่พึงพอใจและได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป ทำให้คณะเพลงอีแซวของแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ จึงยังคงได้รับความสนใจและมีประชาชนว่าจ้างให้ไปเล่นในงานต่างๆ อยู่เสมอ

ประวัติและผลงาน แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์



นางเกลียว เสร็จกิจ (ขวัญจิต ศรีประจันต์) ศิลปินแห่งชาติ
สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซว) ปี 2539

แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ มีนามจริงว่า นางเกลียว เสร็จกิจ เกิดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พุทธศักราช 2490 ที่ ต.วงน้ำซับ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายอัง และนางปลด เสร็จกิจ มีพี่น้อง 3 คน สมรสกับนายเสวี ธราพร มีบุตร 3 คน เป็น ชาย 1 คน และหญิง 2 คน เป็นผู้ที่มีความสนใจทางด้านการร้องเพลงพื้นบ้านมาตั้งแต่ปี๒๕๐๕ ขณะที่อายุประมาณ ๑๕ ปี โดยมีความชื่นชม และเฝ้าติดตามการขับร้องเพลงของแม่บัวผัน จันทร์ศรี (ศิลปินแห่งชาติ) และครูไสว วงษ์งาม อย่างใกล้ชิดและในที่สุดก็ได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อฝึกฝนการขับร้องเพลงกับครูเพลงทั้ง 2 ท่าน ด้วยความเป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ในทางการขับร้อง กอปรด้วยความมีไหวพริบปฏิภาณ และน้ำเสียงอันเป็นเลิศ อีกทั้งมีความมานะพยายามไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ทำให้แม่ขวัญจิตสามารถเรียนรู้วิธีการขับร้องเพลงพื้นบ้านประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงอีแซว จากแม่บัวผัน และเพลงแนวผู้ชายจากครูไสวได้เป็นอย่างดีภายในระยะเวลาไม่นาน แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ไม่เพียงมีความสามารถในด้านการขับร้องเพลงพื้นบ้านเท่านั้น ท่านยังมีความสามารถในการแต่งเพลงอีแซวได้อย่างเป็นเลิศอีกด้วย เนื่องจากท่านมีความรักในด้านการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วรรณคดีไทยเป็นพิเศษ จึงสามารถจดจำลีลาการประพันธ์และเค้าโครงเรื่องเหล่านั้นมาประพันธ์เป็นเพลงอีแซวได้อย่างไพเราะงดงาม แม่ขวัญจิตได้ออกตระเวนเล่นเพลงอีแซวเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และหาความรู้กับครูเพลงพื้นบ้านอีกหลายท่าน ทำให้ความสามารถของท่านพัฒนาขึ้นโดยลำดับจนเริ่มมีชื่อเสียง จากนั้นในช่วงประมาณปี 2510 ก็ได้หันไปสนใจการขับร้องเพลงลูกทุ่ง โดยได้เข้าเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งในวงดนตรีของครูจำรัส สุวคนธ์ และวงดนตรีของ ครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ ตามลำดับ จนมีชื่อเสียงโด่งดัง เพลงลูกทุ่งที่ร้องอัดแผ่นเสียงเป็นเพลงแรกคือ เพลงเบื่อสมบัติ ตามด้วยเพลงดังอื่นๆ เช่น ลาน้องไปเวียดนาม ขวัญใจคนจน แม่ครัวตัวอย่าง ฯลฯ จากนั้นก็ได้แต่งเพลงเองอันได้แก่เพลง กับข้าวเพชฌฆาต น้ำตาดอกคำใต้ สาวสุพรรณ เป็นต้น เมื่อประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง อย่างกว้างขวางแล้ว ก็ได้จัดตั้งวงดนตรีลูกทุ่งของตนเองขึ้น โดยใช้ชื่อว่าวงขวัญจิต ศรีประจันต์ ซึ่งท่านได้นำเอาระบบแสง สี เสียง อันทันสมัยน่าตื่นตาตื่นใจมาใช้ในการแสดง อีกทั้งได้ประยุกต์เพลงอีแซว มาผสมผสานเข้ากับเพลงลูกทุ่งได้อย่างกลมกลืมทำให้ได้รับความนิยมชมชอบจากผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ได้ใช้ชีวิตอยู่ในวงการเพลงลูกทุ่งจนกระทั่งถึงปี ๒๕๑๖ จึงได้ยุบวงแล้วหันกลับไปฟื้นฟูเพลงอีกแซวอีกครั้ง โดยในการกลับมา
ครั้งนั้น ท่านได้ตั้งใจ อย่างแน่วแน่ที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ศิลปะพื้นบ้านแขนงนี้อย่างจริงจัง โดยนอกจาก การแสดงแล้ว ท่านยังอุทิศตนในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยได้ไปบรรยายและสาธิตการแสดงเพลงพื้นบ้านในสถานศึกษาต่างๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย และยังคงปฏิบัติเช่นนี้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะเป็นศิลปินเพลงพื้นบ้านและเพลงลูกทุ่งที่มีความสามารถสูงยิ่งแล้ว แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ยังเป็นผู้ที่มีจิตใจเปี่ยมด้วยคุณธรรมอย่างน่าสรรเสริญ ตลอดชีวิตของการเป็นนักร้องเพลงพื้นบ้านและเพลงลูกทุ่ง ท่านได้อุทิศตนช่วยเหลืองานบุญงานกุศลต่างๆ มิเคยว่างเว้นทั้งงานราษฎร์ และงานหลวง อาทิ การช่วยรณรงค์เพื่อปราบปรามยาเสพย์ติด การรณรงค์ในเรื่องปัญหาโรคเอดส์ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติต่างๆ และการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรด้านเพลงพื้นบ้านที่วิทยาลัยนาฎศิลปสุพรรณบุรี และสถานศึกษาต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี และถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ที่สนใจได้สืบสานเพลงพื้นบ้านไว้เป็นจำนวนมากนับเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ที่มีทั้งความสามารถในด้านเพลงพื้นบ้านอย่างลึกซึ้ง และเป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมผู้ได้บำเพ็ญประโยชน์เป็นอเนกประการต่อสังคม นับเป็นศิลปินที่ชาวสุพรรณบุรีภาคภูมิใจที่สุดท่านหนึ่ง
เกียรติยศ
พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็น ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะ(เพลงพื้นบ้าน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับคัดเลือกเป็นสื่อพื้นบ้านดีเด่นของ
ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนภาคกลางและสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด
พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็น นักร้องดีเด่นกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๒ จากเพลงกับข้าวเพชฌฆาต รับพระราชทานจาก
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจัดงานโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้รับโล่เกียรติคุณ ฐานะนักร้องลูกทุ่งดีเด่นของ จ.สุพรรณบุรี พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้รับการประกาศเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน- อีแซว)
ผลงานภาพยนตร์
เพลงสวรรค์นางไพร (2514) , จำปาทอง (2514) , น้องนางบ้านนา , จำปาสี่ต้น , กลัวเมีย , บุหงาหน้าฝน (2515) , อยากดัง ,
มนต์เพลงลูกทุ่ง เอฟ.เอ็ม. นอกจากนั้นยังเคยร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ที่เป็นเพลงเด่นๆหลายเพลง อาทิ
“คิดถึงคนอยากดัง” , “รักชั่งกิโล” , “ผัวหาย” ฯลฯ

ผลงานการขับร้องเพลง
ผลงานการขับร้องเพลงด้านต่างๆ ของแม่ขวัญจิต ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนอกจาก ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีอีกมากมาย แบ่งออกเป็นเพลงหลายประเภทดังนี้
ประเภทเพลงลูกทุ่ง ได้แก่ เพลงเศรษฐีสุพรรณ ก็นั่นนะซิ วุ้ยว้าย นางครวญ อ้อมอกเจ้าพระยา อายบาปอายบุญ ปิดทองพระ แห่ผ้าป่า แฟนหนังเร่ เสียงครวญจากชาวประชา ชวนน้องกลับอีสาน กับข้าวเพชฌฆาต ฯลฯ
ประเภทเพลงพื้นบ้าน ได้แก่ เพลงชุดปัญหาหัวใจ อานิสงส์ทอดกฐิน ประเพณีไทย น้ำตาหมอนวด ประวัติเมืองสุพรรณ อีแซวประยุกต์ พระมาลัยโปรดนรก พระคุณพ่อแม่ อานิสงส์บรรพชา ประเพณีแต่งงาน เต้นกำรำเคียวเกี่ยวมดตะนอย ฯลฯ
ประเภทเพลงแหล่ ได้แก่ แหล่มัทรีเดินดง แหล่ประวัตินาค แหล่กัญหาชาลี แหล่ทำขวัญนาค แหล่ถาม-ตอบพิธีแต่งขันหมาก แหล่ถาม-ตอบเรื่องการแต่งาน ฯลฯ
ตัวอย่างบทเพลงอีแซว
บทร้องไหว้ครู
ก่อนจะเล่นให้ดู ต้องไหว้ครูเสียก่อน จะได้กราบขอพร เอาไว้คุ้มภัย
สิบนิ้วประนม กราบก้มวันทา ก่อนที่ลูกจะว่า เอ๋ยเพลงไป
จะไหว้พระพุทธที่ล้ำ ไหว้พระธรรมที่เลิศ จะไหว้พระสงฆ์องค์ประเสริฐ อรหันต์ขวาซ้าย
ขอให้เป็นฉัตรแก้ว แล้วกางกัน ขออย่าให้มีอัน อันตราย
จะไหว้คุณบิดร เชียวหนอมารดา ที่ท่านได้เลี้ยงลูกมา จนโตใหญ่
ขอให้มาปกเกศ แล้วปกป้อง อย่าให้ลูกมีอัน อันตราย
ลูกขอไหว้คุณครู ผู้สั่งสอน ขอให้มาต่อกลอน ของลูกไว้
ขอมานั่งอยู่ในคอ คอยต่อปัญญา เมื่อลูกจะว่า แล้วเพลงไป
ลูกจะไหว้ครูพัก ที่ลักจำ บทกลอนที่แนะนำ ส่งเสริมให้
ร้องอะไรก็อย่าให้ผิด คิดแคล่วคล่อง ขอให้หัวสมอง ลูกว่องไว
ให้ว่ากลอนเฉาะ ๆ เสนาะสำเนียง ขอให้กลอนกลมเกลี้ยง เปล่งเสียงถูกใจ
แล้วร้องว่าไชโย เอ๋ยไชยยะ ขอให้ลูกชนะ ทุกคนไป