วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ประวัติความเป็นมา


ประวัติความเป็นมา

ในสมัยก่อนมีงานชุมนุมใหญ่งานหนึ่งคือ งานนมัสการหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร ในเดือน ๑๒ ซึ่งมีประจำทุกปี ชาวสุพรรณถือเป็นธรรมเนียมกันว่าต้องไปฟังเพลง ที่วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร กันให้เป็นที่สนุกสนาน เนื่องจากผู้คนมาชุมนุมกัน ในงานดังกล่าว บรรดาพ่อเพลงแม่เพลง จากถิ่นต่าง ๆ ก็มาชุมนุมกันด้วยโดยปริยาย พวกมาเรือ ก็เล่นเพลงเรือ พวกมาทางบกก็เล่น เพลงอีแซว เพลงปรบไก่ แต่เพลงเกี่ยวข้าวไม่ค่อยมีเล่นกัน อาจจะเป็นเพราะเก็บไว้เล่นตอนลงแขกเกี่ยวข้าวกัน ก็เป็นได้ บรรดาเพลงดังที่กล่าวถึงนี้ เพลงอีแซว ดูเหมือนจะนิยมกันมาก ด้วยเหตุที่เป็นเพลงเร็ว จังหวะกระชั้น ผู้ร้องจะต้อง ปฏิภาณดี เรียกกันภาษาเพลงว่า มุตโตแตกฉาน ซึ่งความจริงแล้ว เพลงอีแซวก็มีลักษณะคล้ายกับเพลงฉ่อย แต่แปลกที่ว่าเพลงประเภทนี้นิยมกันแต่ในเมืองสุพรรณเท่านั้น เรื่องของเพลงอีแซวที่ร้องกันนั้นจะเริ่มจากบทไหว้ครู ทั้งชายและหญิง จากนั้นฝ่ายชายเป็นผู้เริ่มเรียกว่า ปลอบ ฝ่ายหญิงก็จะว่าบท รับแขก ดังนั้นฝ่ายชายจะวกเข้าหาบทเกี้ยว ฝ่ายหญิงจะรับด้วยบท เล่นตัว ฝ่ายชายจะว่าบท ออด ฝ่ายหญิงจะตอบด้วยบทเสียแค่นไม่ได้ คือ รับรัก จากนั้นฝ่ายหญิงจะขึ้นบท ชมนกชมไม้ ซึ่งบทนี้มักจะเป็นบทถามตอบกัน ระหว่างหญิงกับชายซึ่งให้ความรู้แก่ผู้ชมผู้ฟังมาก ยังมีแนวทางเล่น อีกแนวหนึ่งที่สะท้อนภาพสังคมได้ดี สังคมปัจจุบันเรียกว่า ชิงชู้ ซึ่งเป็นเรื่องในลักษณะ หนึ่งหญิงสองชาย กับ ตีหมากผัว ซึ่งเป็นเรื่องในลักษณะหนึ่งชายสองหญิง เป็นการแสดงแบบ ทะเลาะกัน ตามสภาพชีวิตจริง ผู้ว่าเพลงจะสอดแทรกมุขต่าง ๆ ลงไว้ในบทร้อง มีข้อความเสียดสี กินใจ สั่งสอน รวมทั้ง บทตลกคละเคล้ากันไป และจะไปลงท้ายด้วยบทขอขมาอภัยต่อการที่ได้สมมุติตัว และว่าบทเพลงล่วงเกินกันมาซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสรรเสริญ และแสดงออกถึงวัฒนธรรม สามัคคีธรรมได้เป็นอย่างดียิ่ง จากนั้นก็จะเป็นการให้พรซึ่งกันและกันทั้งเจ้าภาพและผู้ฟังก่อนที่จะล่ำลาแยกย้ายกันไป
หากวิเคราะห์แล้วเพลงอีแซว มีกำเนิดมาจากการเล่น เพื่อความสนุกสนานในงานประจำปีของวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี ในเดือนห้า และเดือนสิบเอ็ดของบรรดา พ่อเพลงแม่เพลงในท้องถิ่นต่างๆ เมื่อมีคนชมและเกิดความชื่นชอบมากขึ้น จึงกลายเป็นการเล่นเพลงเพื่อเป็นอาชีพ โดยผู้บุกเบิกในยุคแรกนั้น คือพ่อไสว สุวรรณประทีป กับ แม่บัวผัน จันทร์ศรี ทั้งสองท่านเป็นบุคคลที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ ท่านได้ทำการฝึกหัดเด็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติด้วยกันที่บ้านของท่าน โดยให้ฝึกทั้งการขับร้องและ การฟ้อนรำควบคู่กันไป เมื่อมีความสามารถในระดับที่แสดงได้ท่านจึงให้ออกแสดงร่วมกับคณะ ดังนั้น จึงนับได้ว่าเพลงร้องที่เกิดในอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเพลงร้องที่มีความเก่าแก่ และมีการสืบสานต่อกันมาเป็นช่วงๆ ทั้งยังเป็นบทเพลงที่สร้างรายได้ให้แก่ศิษย์ในรุ่นหลัง ตลอดจนการแพร่หลายของบทเพลงนำไปสู่การเรียนการสอนในระบบโรงเรียน มีการนำเพลงพื้นบ้านมาให้นักเรียน นักศึกษาได้ฝึกหัดขับร้อง เพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน เพลงร้องพื้นบ้านอันเป็นภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าของจังหวัดสุพรรณบุรี

ไม่มีความคิดเห็น: