วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิธีการขับร้อง

วิธีการขับร้อง
การขับร้องเพลงอีแซวเป็นการขับร้องอีกประเภทหนึ่งทีมีเอกลักษณ์เป็นแบบเฉพาะ จะมีวิธีการขับร้องในลักษณะ ดังนี้
1. การร้องเอื้อนก่อนการร้องเนื้อเพลง จากคำบอกเล่าของศิลปินทำให้ทราบว่าการร้องเอื้อนนั้นจะมีการร้องที่แตกต่างกันออกไปตามความสามารถของผู้ร้อง ตลอดจนประสบการณ์ที่ผู้ร้อง แต่ละคนจะสามารถขับร้องให้เป็นเอกลักษณ์ของตน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการร้องเอื้อนแบบทั่วไปที่เป็นการใช้คำเอื้อนแบบง่ายๆ คือ
“เอ่อ ฮึ เงอ เฮ้อ เอิง เงอ เหอ่อ เอ๊อ เงอ เฮ่อ เออ เอ่ย”
การร้องคำเอื้อนนี้ส่วนใหญ่จะร้องเพียงคนที่ขึ้นต้นคนแรกเพียงคนเดียว เปรียบเสมือนการตั้งเสียงใน การร้อง ส่วนคนที่จะร้องต่อไปนั้นไม่ต้องขึ้นร้องเอื้อน จะร้องคำร้องได้เลย
2. การร้องรับลูกคู่ ลูกคู่จะร้องรับก็ต่อเมื่อผู้ร้องที่เป็นพ่อเพลง หรือแม่เพลงทอดเสียงแล้วเอื้อนเสียง ลูกคู่จะรับ คำว่า แล้ว......( สองคำลงท้าย) เช่น
เพลงพวงมาลัยบ้างก็ใส่เพลงฉ่อย........(เอิงเอย) ลูกคู่รับ “ แล้วเพลงฉ่อย ”
ทั้งลูกคู่ลูกค่อยต่างก็พลอยกันไป......(เอิงเอย) ลูกคู่รับ “ แล้วกันไป ”
กรณีสองคำลงท้ายเป็นคำที่มีสามพยางค์ เช่น จรลี ชลาลัย ลูกคู่ต้องรับให้เต็มคำ คือรับว่า จรลี ชลาลัย ไม่ต้องร้องรับคำว่าแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ถูกหลักของคำในภาษาไทย
ในการขับร้องเพลงอีแซว เดิมใช้การปรบมือเพียงอย่างเดียว หรือบางครั้งมีการเป่าแคนประกอบ จะไม่มีข้อกำหนดเรื่อง จำนวนผู้แสดง แต่ในวงหนึ่งๆ จะมีการจัดสรรตำแหน่งหน้าที่ ของผู้แสดงประกอบด้วย พ่อเพลง (ผู้ร้องนำฝ่ายชาย) แม่เพลง (ผู้ร้องนำฝ่ายหญิง) คอต้น (ผู้ร้องเพลงโต้ตอบคนแรก) คอสอง , คอสาม (ผู้ร้องคนที่สองและ สาม) และ ลูกคู่ (จำนวนไม่จำกัด มีหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำความ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะ เพื่อความสนุกสนาน) ต่อมาภายหลังจนถึง ยุคปัจจุบันนี้ นิยมนำตะโพนไทย หรือบางที่ก็จะใช้เครื่องหนังมาตีประกอบ รวมถึงเครื่องประกอบจังหวะ ได้แก่ ฉิ่ง กรับ เพื่อให้เกิดความสนุกสนานใน การแสดง
นอกจากนี้ยังมีวิวัฒนาการโดยการทำทำนองดนตรีจากเครื่องดนตรีสากล คือ คีย์บอร์ด จนถึงการนำระบบคอมพิวเตอร์ มาใช้ในการทำทำนองดนตรีประกอบการขับร้องเพลงอีแซว

ไม่มีความคิดเห็น: