วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2551

บทร้อง เนื้อหาสาระ

บทร้อง เนื้อหาสาระ
เพลงอีแซวมีจะดำเนินการแสดงโดยมีเนื้อหาเรียงลำดับ เริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู บทเกริ่น บทประ และจบท้ายด้วยบทจาก หรือบทลา
1. บทไหว้ครู เป็นบทกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้มีพระคุณ ได้แก่ พระรัตนตรัย เทวดา ภูตผี พ่อแม่ ครูอาจารย์ ( ครูเพลงของอีแซวจะมีสองแบบ “ครูเพลงที่เป็นจิตวิญญาณ” เช่นพระนารายณ์ ฤาษีหรือพ่อแก่ และครูอีกประเภทคือ “ครูเพลงที่เป็นมนุษย์” นอกจากครูเพลงทั้งสองแบบแล้ว ก็มี “ครูพักลักจำ” ซึ่งหมายถึงครูที่ผู้ร้องไม่ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ แต่ได้ แอบจดจำเพลงหรือลีลา ) การร้องบทไหว้ครูจะต้องนั่งกับพื้นร้อง โดยมี “พานกำนล” หรือ พานไหว้ครูวางไว้ข้างหน้า หรือยกถือไว้ในขณะร้อง โดยพ่อเพลงจะร้องก่อน ตามด้วยแม่เพลง
2. บทเกริ่น เป็นบทร้องของฝ่ายชายและหญิงก่อนที่จะ มาพบกันตามเหตุการณ์ที่สมมุติไว้ บทเกริ่นเริ่มต้นภายหลังจาก บทไหว้ครูจบลง ผู้แสดงทั้งหมดจะลุกขึ้นยืนร้อง “เพลงออกตัว” มีเนื้อหาทักทายกัน แนะนำตัว ฝากตัวกับผู้ชม ตามด้วย “เพลงแต่งตัว” หากสมมุติเหตุการณ์เป็นการชักชวนกันไปเที่ยวบ้าน สาวๆ พอมาถึงบ้านฝ่ายหญิงแล้วจะร้อง “เพลงปลอบ” ซึ่งเป็น เพลงที่ชักชวนให้ฝ่ายหญิงออกมาร้องเพลงโต้ตอบกัน
3. เพลงประ หมายถึงการร้องปะทะคารมกันของทั้งสอง ฝ่าย เพลงประของวงอีแซวมีหลายแบบ ได้แก่ แนวรัก (การเกี้ยว พาราสี) แนวประลอง (การทดสอบฝีปากหรือทดสอบภูมิปัญญา) และแนวเพลงเรื่อง (ดำเนินเรื่องราวตามเรื่องของ นิทาน นิยาย หรือวรรณกรรม)
4. บทจาก หรือ บทลา เป็นบทร้องที่ร้องในตอนใกล้จะเลิกการแสดงเพลง ลักษณะคำร้องจะมีความหมายในเชิงอาลัยอาวรณ์ไม่อยากจากลาต่อกัน ระหว่างพ่อเพลงกับแม่เพลงและระหว่างพ่อเพลง แม่เพลงกับผู้ชมที่ชมการแสดง โดยมักกล่าวอ้างถึงเวลาเป็นสิ่งสำคัญ
5. การอวยพร เป็นบทที่นิยมร้องไว้ตอนท้ายสุดของการแสดง หรือบางท้องที่ อาจร้องในตอนเริ่มต้น ลักษณะคำร้องเป็นการอวยชัยให้พร โดยอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจคุณพระรัตนตรัย เทพยดา ความสวัสดิมงคลทุกประการ มาคุ้มครองป้องกันให้มีความสุขตลอดไป มักร้องด้วยลีลาที่ช้าและชัดเจน ส่วนใหญ่จะเน้นแนวการขับร้องทางหวานไพเราะกังวาน เพื่อสะกดผู้ชม ให้เกิดความซาบซึ้งและต้องการที่จะชมการแสดงในครั้งต่อไปอีก
นอกจากบทร้องที่มีการขับร้องเป็นจารีตหลายลักษณะแล้ว ยังมีเนื้อหาสาระของบทเพลงที่กล่าวถึงเรื่องราวที่จะขับร้อง ซึ่งแต่เดิมจะเรียกกันว่า ตับ เช่น ตับหมานิล ตับควาย ตับชิงชู้ ตับตีหมากผัว เป็นต้น โดยแต่ละตับจะมีเอกลักษณ์ของคำร้องที่สนุกสนานเฉพาะตัว ทั้งยังเป็นการแสดงถึงความสามารถด้านการขับร้องของพ่อเพลงแม่เพลงเป็นอย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น: