วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ความเป็นมา

นายณุกูล ป้อมสกุล เด็กหนุ่มจากบ้านธรรมกุล (บ้านพิหารแดง หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี) ซึ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี ได้มีโอกาสไปร่วมงานซ่อมแซมภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดจรรย์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบกับหมู่บ้านธรรมกุล ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายณุกูล ป้อมสกุล ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง และบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งที่ตั้งเตาเผาโบราณบ้านบางปูน ปัจจุบันอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลพิหารแดง จึงเกิดความสนใจและเริ่มศึกษาค้นคว้าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของถิ่นเกิดภายในตำบลพิหารแดง เช่น เมืองเก่าบ้านธรรมกุล หมู่ที่ 5 เตาเผาบ้านบางปูน หมู่ที่ 3 ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์วัดหน่อพุทธางกูร หมู่ที่ 1 เป็นต้น
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบ้านธรรมกุล จากการศึกษาพบว่า บ้านธรรมกุลเป็นเมืองเก่า ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองสุพรรณบุรี ประมาณ 1 กิโลเมตร ดังที่สุนทรภู่ กวีเอกในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้แต่งไว้ในหนังสือนิราศเมืองสุพรรณ บทที่ 157 เมื่อครั้งล่องเรือผ่าน ทางแม่น้ำท่าจีน ในสมัยนั้น ความว่า
บ้านตั้งฝั่งฟากน้ำ ธรรมกุล
วัดช่างปางก่อนสูญ สงัดเศร้า
ขอบเขื่อนเกลื่อนอิฐปูน เปื่อยเปล่า เจ้าเอย
โบสถ์ยับทับพระเจ้า เจิ่งน้ำกร่ำฝน
จากการศึกษายังพบอีกว่า บริเวณใกล้เคียงกันยังเป็นแหล่งเตาเผาโบราณหลายแห่ง เช่น เตาเผาบ้านบางปูน เตาเผาบ้านสมุน เตาเผาวัดชีสุขเกษม เตาเผาวัดพระนอน และเตาเผาบ้านธรรมกุล ดังสาระสำคัญจากหนังสือสุพรรณบุรี ประวัติศาสตร์ ศิลปหัตถกรรม และวัฒนธรรมท้องถิ่น ความว่า บริเวณแหล่งโบราณคดีบ้านธรรมกุล ซึ่งพบว่ามีภาชนะดินเผาหลายประเภทเป็นจำนวนมาก แสดงว่ามีการผลิตแบบอุตสาหกรรม นอกจากใช้ในท้องถิ่นแล้วยังเป็นสินค้าส่งออก อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีวิหารร้างอยู่ แสดงว่าการผลิตภาชนะดินเผา และการก่อสร้างเตา ต้องมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งอาจเป็นสุสานฝังศพเหมือนลักษณะที่พบในแหล่งเตาบ้านเกาะน้อยป่ายาง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการศึกษาทางโบราณคดี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อมูลสมมติฐานดังกล่าวอย่างรีบด่วน เพราะกำลังถูกทำลายจากธรรมชาติและการทำไร่ แหล่งเตาเผานี้น่าจะอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21
นอกจากจะเป็นแหล่งเตาเผาแล้ว ในหมู่บ้านใกล้เคียงอย่างหมู่บ้านพลุหลวง เป็นที่ตั้งของวัดหน่อพุทธางกูร ซึ่งมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างชาวลาว 3 คนพี่น้อง ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ประเทศลาว ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ยังอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ ประกอบกับจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งกำเนิดวรรณคดีชื่อดัง “ขุนช้าง - ขุนแผน” รวมถึงการละเล่นของเด็กไทยและวิถีชีวิตคนไทยในอดีต ที่กำลังเลือนหายไปจากสังคมไทย
ผลงาน “แจกันดินเผาหุ้มด้วยผักตบชวาลวดลายจิตรกรรมไทย” จึงเกิดจากความสนใจของ นายณุกูล ป้อมสกุล ที่ต้องการเผยแพร่งานศิลปะภาพจิตกรรม ฝาผนังโบสถ์ สมัยรัชกาลที่ 3 ของวัดหน่อพุทธางกูร ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เรื่องราววรรณคดี ขุนช้าง - ขุนแผน รวมทั้งการละเล่นของเด็กไทย และวิถีชีวิตคนไทยในอดีต จึงได้คิดผลิตชิ้นงานที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นตำบลพิหารแดง ที่มีการผสมผสานกันระหว่างงานหัตถกรรม (เครื่องปั้นดินเผาและการจักสานผักตบชวา) และงานจิตรกรรม เกิดงานศิลปกรรมบ้านธรรมกุล ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ชื่อกลุ่ม
กลุ่มศิลปหัตถกรรมบ้านธรรมกุล

ประเภทธุรกิจ
เป็นธุรกิจกิจการคนเดียว

เจ้าของ/ผู้ประกอบการ
นายณุกุล ป้อมสกุล

สถานที่ตั้ง
บ้านธรรมกุล เลขที่ 60 หมู่ที่ 5 ตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

หมายเลขโทรศัพท์
035-408400 , 089-8177856 , 085-1951392 , 089-1788494

ไม่มีความคิดเห็น: